6/12/2550

ถังข่าว หัวใจของบริษัทเนชั่น

“ถังข่าว” พื้นที่สาธารณะ หัวใจของบริษัทข่าวเนชั่น

ภาคภูมิ หรรนภา*

หนังสือพิมพ์ เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีความสำคัญในยุคปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีข่าวสารด้านต่างๆเข้ามาให้มนุษย์ได้เสพมากมาย แต่หนังสือพิมพ์ก็ยังมีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ มนุษย์สามารถรับข่าวสาร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งใกล้ตัวและไกลตัวในบ้านเมืองได้จากหนังสือพิมพ์
คำว่า “หนังสือพิมพ์” ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 ระบุว่า หนังสือพิมพ์ หมายถึง สิ่งพิมพ์ที่มีการจ่าหน้าเดียวกัน และออก หรือเจตนาจะออกตาม ลำดับเรื่องไปมีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็ตาม มีข้อความต่อเนื่องหรือไม่ก็ตาม(พิศิษฐ์ ชวาลาธวัช, 2541 : 207)
อย่างไรกตาม ความหมายหรือคำจำกัดความ “หนังสือพิมพ์” ได้มีผู้นิยามไว้จากบุคคลหลายๆอาชีพ อาทิเช่น นักประวัติศาสตร์ นักเศรษฐศาตร์ นักการเมือง นักทฤษฎีด้านสื่อสารมวลชน สามารถสรุปคำว่า “หนังสือพิมพ์” หมายถึงสิ่งพิมพ์ที่ออกตามเวลา และตีพิมพ์ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญๆให้กับผู้อ่านได้รับรู้เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น เพื่อให้แง่คิด เตือนภัย แก่ผู้อ่านที่เป็นประชาชนทั่วไป(ปุณณรัตน์ พิงคานนท์, 2548)
การคำจำกัดความดังกล่าวเห็นได้ว่าคำว่า “หนังสือพิมพ์” นั้นครอบคลุมถึงหนังสือพิมพ์ที่ออกในวาระต่างๆ กันไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ รายปักษ์ หรือรายเดือนเป็นต้น ส่วนผู้อ่านนั้นเป็นประชาชนที่อยู่ในชุมชนต่างๆ ส่วนขนาดขององค์กรหนังสือพิมพ์นั้น มีทั้งองค์กรขนาดใหญ่ องค์กรขนาดกลาง องค์กรขนาดเล็ก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดำเนินงานของเจ้าของกิจการแต่ละฉบับ(สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ(2546)
พีระ จิรโสภณ(2532)กล่าวว่าโดยทั่วไปตามหลักวารสารศาสตร์สากล หนังสือพิมพ์ สามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภทได้แก่ หนังสือพิมพ์ประเภทประชานิยม(popular newspaper) หนังสือพิมพ์ประเภทคุณภาพ(quality newspaper)
1. หนังสือพิมพ์ประเภทประชานิยม(popular newspaper) หรือหนังสือพิมพ์ปริมาณ
(quantity) เป็นหนังสือพิมพ์ที่คนทั่วไปนิยมอ่านกันอย่าแพร่หลายและมีจำนวนจำหน่ายสูง แต่อย่างไรก็ตาม ข้อบ่งชี้บอกถึงลักษณะของหนังสือพิมพ์ประเภทนี้ไม่ได้อยู่ที่ยอดจำหน่ายเป็นสำคัญ หากอยู่ที่ลักษณะเนื้อหาและวิธีการนำเสนอเนื้อให้ผู้อ่าน จุดเด่นของหนังสือพิมพ์ประเภทนี้คือ เน้นการเสนอข่าวที่เร้าอารมณ์ผู้อ่าน(Sensational) เช่น ข่าวอาชญากรรม ข่าวภัยพิบัติ ข่าวความขัดแย้งรุนแรงต่างๆ ข่าวลักษณะนี้เป็นข่าวประเภทที่คนทั่วไปสนใจบางทีเรียกว่า “ข่าวเบา” (Soft news) หนังสือพิมพ์ที่ถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์ประชานิยมและนำเสนอข่าวเบาได้แก่ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์
2. หนังสือพิมพ์ประเภทคุณภาพ(quality newspaper) ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเป็น
หนังสือพิมพ์ที่มีคุณภาพเสมอดีไป แต่หมายถึงลักษณะการนำเสนอข่าวเป็นประเภทข่าวหนัก(Hard news) เช่นข่าวเศษรฐกิจ การเมือง สังคม การศึกษา เป็นต้น ข่าวประเภทนี้มุ่งให้ความรู้เป็นสำคัญ หนังสือพิมพ์ที่ถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์ประเภทคุณภาพและนำเสนอข่าวหนักเป็นหลัก ได้แก่ หนังสือพิมพ์มติชน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ เป็นต้น
ในส่วนของ ดรุณี หิรัญรักษ์ (2543 ) กล่าวไว้ว่า ปัจจุบันการแบ่งประเภทมีการเพิ่มขึ้นอีก 1 ประเภทคือ หนังสือพิมพ์ประเภทผสมผสาน(Combination Newspaper) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่ผสมผสานระหว่างปริมาณและคุณภาพเข้าไว้ด้วยกัน เน้นนำเสนอทั้งข่าวเบา(Soft news) และข่าวหนัก(Hard news) หนังสือพิมพ์ที่ถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์ประเภทผสมผสานและนำเสนอทั้งข่าวเบา และข่าวหนักในปริมาณที่เท่าๆ กัน ได้แก่ หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก ซึ่งก็เป็นหนังสือพิมพ์แบบผสมผสานในช่วงแรกที่เปิดตัวเท่านั้น
แต่ปัจจุบันหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ถูกจัดอยู่ในหนังสือพิมพ์ประเภทที่ 1 คือหนังสือพิมพ์ประเภท ประชานิยม (Popular Newspaper) หนังสือพิมพ์ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันคือ หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่างหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หนังสือพิมพ์ข่าวสด เป็นต้น
หนังสือพิมพ์กับหลักการบริหาร
ความหมายของการบริหารหรือการจัดการ หมายถึง กระบวนการในการนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่ได้แก่ วัสดุสิ่งของ เครื่องจักร หรือเครื่องมือที่ใช้ในการผลิต และเงินทุนมาใช้ดำเนินการให้สำเร็จไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
การบริหารหรือการจัดองค์กร (Management) มีตั้งแต่ระดับง่ายไปจนถึงระดับที่ซับซ้อน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดขององค์กรเป็นสำคัญ ถ้าเป็นองค์กรขนาดเล็ก การบริหารองค์กรก็ไม่ยุ่งยากซับซ้อนมากเท่าไหร่ ตรงข้ามกันถ้าองค์กรที่มีขนาดใหญ่ มีเครือข่ายงานมากบุคลากรมาก การบริหารจัดการงานในองค์ก็มีความซับซ้อนมากขึ้นตามลำดับ
หนังสือพิมพ์เป็นองค์กรธุรกิจประเภทหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์หลักของการประกอบธุรกิจที่แสวงหากำไร การจัดทำหนังสือพิมพ์ต้องใช้ทุนเป็นจำนวนมากมหาศาล การลงทุนก็คือการซื้อเครื่องจักร ยานพาหนะ อาคารสถานที่ การจ้างบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต เป็นต้น การทำธุรกิจหนังสือพิมพ์ถือว่าเป็นการลงทุนที่สูงมากจึงจำเป็นที่ต้องอาศัยกระบวนการการบริหารงานหรือการจัดการอย่างมีระบบ ในการดำเนินกิจการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้และหวังผลด้านกำไร
องค์กรธุรกิจหนังสือพิมพ์โดยทั่วไปถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในด้านกลุ่มผู้อ่าน นโยบายและปรัชญาของการจัดทำ แต่หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่จะมีความคลายคลึงกันในด้านการจัดองค์กร โดยที่หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่จะแบ่งการบริหารองค์กรที่ประกอบไปด้วยหน่วยงานหลักดังนี้
1. เจ้าของ / ผู้บริหาร หน่วยงานนี้มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการวางแผนและนโยบาย ตลอดจนดูแลในด้านการเงินขององค์กรให้เป็นไปตามขั้นตอน บุคคลระดับบริหารที่สำคัญ ผู้ที่เป็นเจ้าของ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา หรือผู้จัดการทั่วไป หนังสือพิมพ์ที่มีขนาดใหญ่มักจะมีบุคคลดังนี้ บรรณาธิการ ผู้อำนวยการฝ่ายต่างๆ
2. ฝ่ายโฆษณา หน่วยงานนี้รับผิดชอบในด้านการขายพืนที่หนังสือพิมพ์ให้กับวงการธุรกิจต่างๆ ที่มีความต้องการจะขายสินค้า นอกจากนี้ยังมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำออกแบบร่วมกับเจ้าของสินค้าที่จะมาลงในหนังสือพิมพ์
3. ฝ่ายจัดจำหน่าย บทบาทหน้าที่และขอบข่ายความรับผิดชอบของหน่วยงานนี้ คือการวางแผนการจัดจำหน่ายจ่ายแจก การจัดส่งหนังสือพิมพ์ ในรูปแบบต่างๆ ให้ถึงมือผู้อ่านได้ทันเวลา และทำให้หนังสือพิมพ์มีจำนวนจำหน่ายมากที่สุด
4. ฝ่ายข่าวและกองบรรณาธิการ หน้าที่หน่วยงานนี้เกี่ยวข้องกับการวางแผนการเตรียมการจัดหาเนื้อหา ข่าวสารและข้อมูลต่างๆ เพื่อทำต้นฉบับ หน่วยงานนี้ประกอบไปด้วย บรรณาธิการ นักข่าว ช่างภาพ ผู้ตรวจข่าว ผู้พิสูจน์อักษร เป็นต้น
5. ฝ่ายจัดพิมพ์ หน้าที่หน่วยงานนีเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการพิมพ์ตั้งแต่เตรียมการพิมพ์ไปจนขั้นสุดท้ายของการพิมพ์ จนเสร็จสมบูรณ์ พร้อมที่จะจำหน่ายไปยังผู้อ่าน
องค์กรหนังสือพิมพ์บางแห่ง อาจจะไม่มีหน่วยงานครบอย่างที่กล่าวมาข้างต้นก็ได้ขึ้นอยู่กับต้นทุนขององค์กรนั้นๆ แต่จะอาศัยการจัดทำและรับบริการจากแห่งอื่น
ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ เนชั่น
จุดเริ่มต้นศูนย์ข่าวเนชั่น
บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (มหาชน) ก่อตั้งครังแรกในปี พ.ศ. 2514 ภายใต้ชื่อ บริษัทเดอะเนชั่น จำกัด กลุ่มก่อตั้งกลุ่มแรก โดยนายธรรมนูญ มหาเปาะ, นายสุทธิชัย หยุ่น, ม.ร.ว.สุนิดา กิติยากร จัดทำหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษชื่อ The Voice of The Nation เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2514 ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับแรกของคนไทย (ดรุณี หิรัญรักษ์,2543)
หลังจากก่อตั้งได้ 1 ปี ก็ออกหนังสือในเครือเพิ่มอีก 1 ฉบับ คือ Business Review เป็นนิตยสารรายเดือน เริ่มเดือนพฤษจิกายน 2515
ในระยะแรกบริษัทมีปัญหาเรื่องการเงิน และการตลาด จึงหยุดกิจการชั่วคราว หลังจากนั้นได้มีการรวมตัวใหม่ โดยใช้ชื่อว่า บริษัท บิสซิเนส รีวิว จำกัด และออกหนังสือใหม่ใช้ชื่อว่า The Nation Review ในเดือนพฤษจิกายน 2519 หลังจากนั้นก็มีการปรับปรุงหนังสือ บริษัทเริ่มมีกำไรในปี พ.ศ. 2528 เปลี่ยนชื่อเป็น The Nation
ในปี 2530 บริษัทได้จัดทำหนังสือพิมพ์ภาษาไทยรายวันชื่อ กรุงเทพธุรกิจ เพื่อตอบสนองผู้อ่านที่สนใจจะรับรู้เรื่องข่าวสารด้านธุรกิจ ในปีเดียวกันได้ทำสัญญาเป็นตัวแทนจำหน่ายหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ คือ The Asian Wall Street Journal และทำสัญญาส่งเสริมการขายร่วมกับ Asia Week
ต่อมาในปี 2531 บริษัทบิสซิเนส รีวิว จำกัด ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทเนชั่น พับลิชชิ่ง กรุ๊ป และได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียน และในปีเดียวกัน บริษัทเนชั่น พับลิชชิ่ง กรุ๊ป ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
การบริหารงานธุรกิจของบริษัทหลังจากจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้มีการระดมทุนโดยการเพิ่ม เพื่อขยายกิจการ และขยายงานต่าง ๆ เช่น สร้างสำนักงานอาคารเนชั่นทาวเวอร์ และโรงพิมพ์
เนชั่นขยายธุรกิจด้านสื่อสิ่งพิมพ์
นอกจากนี้บริษัทได้ขยายสื่อสิ่งพิมพ์ในเครือ เช่น จัดทำหนังสือกรุงเทพธรุกิจสุดสัปดาห์ (2534) รับจ้างเป็นผู้พิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือพิมพ์ โยมิอุริ ชิมบุน(Yomiuri Shimbun) ในประเทศไทย
ในปี 2535 บริษัทได้ขยายสื่อสิ่งพิมพ์ขึ้นหลายฉบับ ได้แก่ หนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์ สองภาษาในฉบับเดียว คือ เนชั่น คอมมิคส์ ในปีเดียวกันบริษัทได้ออกสื่อสิ่งพิมพ์ในเครืออีกฉบับ คือ เนชั่น จูเนียร์ เป็นนิตยสารรายปักษ์ภาษาอังกฤษ
ในปี 2536 ได้นำเอาเทคโนโลยีดาวเทียมมาใช้เป็นประโยชน์ในการผลิตหนังสือพิมพ์และเป็นการขยายตลาดให้กว้างขึ้น บริษัทได้ออกหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจฉบับดาวเทียม ฉบับแรกของประเทศไทยที่จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาเปิดกรุงเทพธุรกิจฉบับดาวเทียมภาคใต้ที่สงขลา กรุงเทพธุรกิจฉบับดาวเทียมภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขอนแก่น
ปัจจุบันหนังสือพิมพ์รายวันน้องใหม่ของบริษัทเนชั่น คือ หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก เป็นหนังสือพิมพ์ประเภทหัวสีหรือเรียกว่าหนังสือพิมพ์เชิงปริมาณ และ เป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่แย่งส่วนแบ่งในตลาดได้น่ากลัวทีเดียว


การข้ามสื่อ(Cross Media)ของเนชั่น
บริษัทเนชั่น ได้ทำการขยายธุรกิจไปสื่ออื่นด้วย โดยการขยายไปยังวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ โดยเริ่มในปี 2534 โดยทำรายการวิเคราะห์ข่าวในรายการสถานีวิทยุ และในปี 2535 มีโครงการ News Station เป็นการรายงานข่าวทุกต้นชั่วโมง และสรุปวิเคราะห์ข่าวการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
ส่วนรายการโทรทัศน์ บริษัทเนชั่นได้ทำรายการวิเคราะห์ข่าวเหตุการณ์ที่สร้างชื่อเสียงให้บริษัทเนชั่นนั้น คือการวิเคราะห์ข่าววิกฤตการณ์อ่าวเปอร์เซีย ปัจจุบันเนชั่นได้เปิดช่องข่าว 24 ชั่วโมง คือ ช่องข่าวเนชั่น ในเคเบิ้ลทีวี
“ถังข่าว” หัวใจ ของบริษัทข่าวเนชั่น
ถ้าสังเกตบริษัทเนชั่นจะเห็นได้ว่า บริษัทแห่งนี้เป็นบริษัทที่เน้นการทำข่าว มีหนังสือพิมพ์และหนังสือหลายหัวอยู่ในบริษัทเดียวกัน รวมรายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ ถ้าตามหลักการจัดองค์กรของหนังสือพิมพ์ หรือบริษัทข่าวในเครือเนชั่น การทำข่าวบริษัทแต่ละบริษัทต้องมีกองบรรณาธิการเป็นของตัวเอง มีนักข่าว ช่างภาพเป็นของตัวเอง พูดง่ายๆก็คือหัวหนังสือของใครก็หนังสือของมันแยกกันทำไปเลยย่างชัดเจน
ยกตัวอย่างเช่น หนังสือพิมพ์มติชนก็มีหนังสือพิมพ์ และหนังสือหลายหัวเช่นเดียวกันกับเนชั่นแต่หนังสือในเครือมติชน จะแยกออกเป็นเล่มใครเล่มมัน แต่ละเล่มมีกองบรรณาธิการของตนเอง มีนักข่าวของตัวเอง นักข่าวก็ทำข่าวให้กับหนังสือของตัวเองเท่านั้น ซึ่งจริงก็ควรเป็นแบบนั้น
แต่ที่บริษัทเนชั่นไม่ได้ทำแบบหนังสือพิมพ์มติชน อย่างที่กล่าวข้างต้นบริษัทเนชั่นมีหนังสือพิมพ์หลายหัว มีรายการข่าวทางวิทยุ และทางโทรทัศน์มากมาย ถ้าทุกฉบับ ทุกรายการ มีนักข่าวเป็นของตัวเอง นักข่าวในบริษัทเนชั่นคงเดินชนกัน
จากการสัมภาษณ์คุณประเสริฐ บรรณาธิการอวุโส บริษัทเนชั่น เรื่องโครงสร้างและการบริหารการข่าวในรูปแบบใหม่ของเนชั่น หลังเกิดเหตุเศรษฐกิจทรุด ในช่วงปี 2540 บริษัทเนชั่นจึงตั้งศูนย์ข่าวเนชั่นขึ้นมา โดยดึงเอานักข่าวในหนังสือพิมพ์หัวต่างๆ มารวมไว้ที่ส่วนกลางเพื่อทำข่าว เมื่อนักข่าวออกไปทำข่าวเสร็จแล้วก็มาส่งข่าวใน “ถังข่าว”
ไม่ว่าจะเป็นข่าวอะไรก็มารวมไว้ที่เดียวกัน คือ “ถังข่าว” หนังสือพิมพ์ฉบับไหนต้องการดึงข่าวไหนไปเขียนก็สามารถนำไปเขียนลงในหนังสือพิมพ์ของตนเองได้ หลายคนอาจมองว่าถ้าหยิบข่าวซ้ำกันไปเขียนข่าวจะเหมือนกัน ซึ่งจริงเป็นไปได้
แต่การทำงานข่าวมีการประชุมข่าวกันหลายครั้ง อย่างที่บริษัทเนชั่น มีการประชุมข่าวระดับหัวหน้าข่าว เรียนกว่า Super desk มีหัวหน้าข่าวแต่ละฉบับเข้าประชุม ทำให้รู้ว่าหนังสือพิมพ์ในเครือฉบับไหนจะเล่นข่าวไหน อีกฉบับก็เลือกเล่นข่าวอื่น ส่วนหนังสือพิมพ์แต่ละหัวก็มีการประชุมข่าวกันเองในฉบับอีกถึง 2 ครั้งก่อนที่จะตีพิมพ์
นอกจากนี้ภาษาลักษณะเฉพาะของแต่ละฉบับ การจับประเด็นก็ไม่เหมือนกัน อย่างเช่น กรุงเทพธุรกิจ หยิบข่าว Aไปก่อน ข่าวที่เขียนออกมาก็เป็นไปในเชิงธุรกิจ เน้นให้นักธุรกิจอ่าน ต่อมาหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ก็มาหยิบข่าว Aไปเขียนซึ่งเป็นข่าวเดียวกัน แต่หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ก็จะเขียนในเชิงข่าวชาวบ้านอ่านภาษาก็ง่าย และเขียนคนละประเด็น
จากการสัมภาษณ์คุณเสด็จ หัวหน้าข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ ค ม ชัด ลึก เรื่องการทำข่าวที่บริษัทเนชั่น บริษัทเนชั่นไม่ได้ทำแบบที่หนังสือพิมพ์ทั่วไปทำ คือบริษัทเนชั่นจะมีศูนย์ข่าวเนชั่นเป็นตัวแทนออกในการทำข่าวทุกข่าว ศูนย์ข่าวเนชั่นข่าวทำข่าวป้อนให้กับหนังสือพิมพ์ในเครือเนชั่นทุกฉบับ แต่ไม่ใช่ว่าหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะไม่มีนักข่าว มีนักข่าวเหมือนฉบับอื่นๆ และก็มีโต๊ะข่าวเหมือนหนังสือพิมพ์เล่มอื่นๆ แต่มีน้อยกว่า หนังสือพิมพของเราจะให้นักข่าวที่ประจำโต๊ะนั้นออกไปหาข่าวที่ต้องการประเด็นเพิ่ม หรือรายละเอียดเพิ่มเติ่มจากที่นักข่าวส่วนกลางทำไว้
สารสาธารณะ (Public Interest Message) ของเครือเนชั่น
สารสาธารณะ (Public Interest Message) ของเครือเนชั่น คือข่าวสารที่เกิดจากการร่วมมือกันของสาธารณะ(นักข่าวใรเครือเนชั่น) ในการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นปัญหาอย่างหลากหลาย มีการถกเถียง โต้แย้ง ด้วยหลักการและเหตุผล ด้วยปัญญา ประเด็นสาธารณะในที่นี้ หมายถึงผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนโดยรวม เพื่อตอบสนองความต้องการในด้านต่างๆ สาธารณะสามารถที่จะให้ข้อมูลข่าวสารที่มีความคงเส้นคงวาในการตัดสินใจเรื่องสำคัญ(ธัญญาลักษณ์ เหลืองวิสุทธิ,2534) เช่นเดียวกันกับการทำข่าวของศูนย์ข่าวเนชั่น ก็ถือว่าเป็นข่าวสารที่เกิดจากการร่วมมือกันของสาธารณะ ซึ่งสาธาณณะในที่นี้ก็คือการร่วมมือกันทำข่าวและใครก็สามารถมาหยิบข่าวสารไปใช้ประโยชน์ได้
พื้นที่สาธารณะ(Public Sphere) ในศูนย์ข่าวเนชั่นนั้นเพื่อเป็นที่พบเพื่ออภิปรายโต้เถียงปัญหา ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ก่อนจะถูกตีแผ่แลกเปลี่ยนกันเพื่อก่อใหเกิดการรับรู้ร่วมกันและนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันในอับดับต่อไป(วิภา อุตมฉันท์,2544)
“ถังข่าว” ของศูนย์ข่าวเนชั่นถือว่าเป็นพืนที่สาธารณะของคนในชุมชนเนชั่น คนในชุมชุนเนชั่นสามารถที่จะเข้ามาเลือกบริโภคข่าวสาร และนำไปทำประโยชน์ได้
ข้อดี ของ “ถังข่าว” ในยุคเศรษฐกิจตกสะเก็ด
ถ้ามองในแง่การบริหารงานแล้วถือว่าผู้บริหารของเครือเนชั่นมองการไกล เนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันสูง การที่ช่วยในการลดต้นทุนขององค์กรถือว่ามีความสำคัญ การทำข่าวแบบ “ถังข่าว” ถือว่าเป็นการช่วยกันทำข่าว ข่าวเดียวสามารถกระจายประโยชน์ไปได้หลายทาง ตัวอย่างเช่นเกิดเหตุการณ์ขึ้นหนึ่งเหตุการณ์ถ้าไม่มีศูนย์ข่าวเนชั่น หนังสือพิมพ์ในเครือทุกฉบับก็ต้องส่งนักข่าวของตัวเองไปทำข่าว นักข่าวหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ก็ออกไป นักข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจก็ต้องออกไป นักข่าววิทยุของเนชั่นก็ออกไป และนักข่าวโทรทัศน์เนชั่นก็ออกไป บริษัทเดียวกันก็ไปที่เดียวกันถือว่าเป็นการสิ้นเปลื้องงบประมาณอย่างมาก
แต่เมื่อเกิดศูนย์ข่าวเนชั่นนักข่าวที่ศูนย์เนชั่นออกไปคนเดียวทำข่าวส่ง “ถังข่าว” หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วิทยุของเนชั่น และข่าวโทรทัศน์เนชั่น ก็ไม่ต้องออกไปรอข้อมูลเพื่อนำมาแปรรูปเป็นแบบของตัวเอง ถือว่าเป็นการประหยัดและลดต้นทุนการผลิตไปในตัวเหมาะกับเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน





บรรณานุกรม
ดรุณี หิรัญรักษ์. การจัดการธุรกิจหนังสือพิมพ์.กรุงเทพฯ. เอกพิมพ์ไทย: 2543.
ธัญญาลักษณ์ เหลืองวิสุทธิ. วรรณกรรมโพล วิทยาศาสตร์ ความจริงและโวหารการวิจัยเชิง
สำรวจ. กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์วิภาษา : 2534.
ปุณณรัตน์ พิงคานนท์. การสื่อข่าวและการเขียนข่าวหนังสือพิมพ์.กรุงเทพฯ. ธรรมดาเพรส: 2548.
ประเสริฐ เป็นผู้ให้สัมภาษณ์, ภาคภูมิ หรรภา เป็นผู้สมภาษณ์. หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ชั้น 4
เนชั่นทาวเวอร์. กรุงเทพฯ เมื่อ 23 เมษายน 2550.
พิศิษฐ์ ชวาลาธวัช. กฎหมายสื่อสารมวลชน. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2541.
พีระ จิรโสภณ. ประเภทสื่อสิ่งพิมพ์. ในความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์หน่วยที่ 1- 5. นนทบุรี.
สาขาวิชินิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช: 2532.
วิภา อุตมฉันท์. ปฏิรูปสื่อเพื่อสังคม หลักคิดและบทเรียนจากนานาประเทศ. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ,
ไอคอน พริ้นติ้ง: 2544.
สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ. การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ, ศูนย์หนังสือสวนสุนันทา :2546.
เสด็จ เป็นผู้ให้สัมภาษณ์, ภาคภูมิ หรรภา เป็นผู้สมภาษณ์. หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ชั้น 4
เนชั่นทาวเวอร์. กรุงเทพฯ เมื่อ 23 เมษายน 2550.

ไม่มีความคิดเห็น: