6/13/2550

Shutter Speed ความเร็วชัตเตอร์ มีผลอย่างไร



ภาพที่ 1ความเร็วชัตเตอร์ 1/50 วินาที น้ำตกเห็นเป็นเม็ด


ภาพที่ 2 ความเร็วชัตเตอร์ 1/25 วินาที เริ่มพริ้วขึ้น


ภาพที่ 3 ความเร็วชัตเตอร์ 1/13 วินาที มีความเป็น สายน้ำมาก


ภาพที่ 4 ความเร็วชัตเตอร์ 1 วินาที เป็นสายน้ำ นุ่มนวล สวย


Shutter Speed ความเร็วชัตเตอร์ มีผลอย่างไร

เริ่มต้นระดับกลาง บทแรก ขอเริ่มที่ ความเร็วชัตเตอร์ หรือ shutter speed
หลายคนบอกว่า นี่เป็นความรู้ พื้นฐานเลยนะนี่ Basic ชัด ๆ ทำไมเอามาอยู่ระดับกลาง
ที่ผมถือว่าเป็นระดับกลาง ก็เพราะว่า นักถ่ายภาพ มือใหม่ เกือบ 80 % ไม่มีความรู้เรื่องนี้
บอกให้ถ่ายรูปที่ความเร็ว 1/5 วินาที รับรอง งง เป็น กุ้งตาแตกเลยครับ และ ต้องใช้
ขาตั้งกล้องอีก ไม่ใช่แค่ ยกกล้องขึ้นมาแล้วกด แช๊ะ แช๊ะ
ความเร็วชัตเตอร์ เป็นความเร็วในการเปิด/ปิด ช่องรับแสง ของกล้อง ถ้าเห็นเครื่องหมาย
/ เช่น 1/125 แปลว่า มีความเร็วสูง คือ เสี้ยวหนึ่งของวินาทีแค่นั้นเอง แบ่งเวลา 1 วินาที
ออกเป็น 125 ส่วน และ คิดดูว่า แค่ 1 ส่วนจะเร็วเพียงใด 1/5 วินาที คือ ครึ่งวินาทีนั้นเอง
แปลว่ามีความเร็วช้าลง
ถ้าเป็นตัวเลขโดด ๆ เช่น 1 หรือ 3 หรือ 8 อย่างนี้ เป็นวินาทีครับ คิดดูว่าหน้ากล้องเปิด
8 วินาที มือใหม่จะถือกล้องถ่ายรูปกันอย่างไร นี่คือเหตุผลของการนำมาอยู่ในระดับกลาง
ถ้าท่านอ่านมาถึงตรงนี้ก็แสดงความพัฒนา ความสามารถขึ้นมาแล้วนะครับ
ความเร็วชัตเตอร์สูงมักใช้ถ่ายภาพ เคลื่อนไหว หรือ กีฬา ความเร็วชัตเตอร์น้อยมักถ่าย
ภาพน้ำตกให้เป็นสาย หรือ ในถาพในที่แสงน้อย เพื่อให้มีความสว่างมากขึ้น

การออกแบบ (Design)

การออกแบบ (Design)

การออกแบบ หมายถึงอะไรนั้น ขอยกตัวอย่างคนที่เคยคิดและเขียนบอกเอาไว้แล้วเช่น โกฟ (Gove, 1965::165) เค้าบอกไว้ว่า การออกแบบเป็นการจัดแต่งองค์ประกอบมูลฐานในการสร้างงานศิลปกรรม เครื่องจักร หรือประดิษฐกรรมของมนุษย์
การออกแบบจะทำให้ เราสามารถถ่ายทอดรูปแบบจากความคิดออกมาเป็นผลงาน ที่ผู้อื่น สามารถมองเห็น รับรู้ หรือสัมผัสได้ เพื่อให้มีความเข้าใจในผลงานร่วมกัน

ความสำคัญของการออกแบบ เช่น
- ในแง่ของการวางแผนการการทำงาน งานออกแบบจะช่วยให้การทำงานเป็นไปตาม ขั้นตอน อย่างเหมาะสม และประหยัดเวลา ดังนั้นอาจถือว่าการออกแบบ คือ การวาง แผนการทำงานก็ได้
- ในแง่ของการนำเสนอผลงาน ผลงานออกแบบจะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องมีความเข้าใจ ตรงกันอย่างชัดเจน ดังนั้น ความสำคัญในด้านนี้ คือ เป็นสื่อความหมายเพื่อความเข้าใจ ระหว่างกัน
- เป็นสิ่งที่อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับงาน งานบางประเภทอาจมีรายละเอียดมากมาย ซับซ้อน ผลงานออกแบบจะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้อง และผู้พบเห็นมีความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้น หรืออาจกล่าวได้ว่า ผลงานออกแบบ คือ ตัวแทนความคิดของผูออกแบบได้ทั้งหมด
- แบบ จะมีความสำคัญอย่างที่สุด ในกรณีที่ นักออกแบบกับผู้สร้างงานหรือผู้ผลิต เป็นคนละคนกัน เช่น สถาปนิกกับช่างก่อสร้าง นักออกแบบกับผู้ผลิตในโรงงาน หรือถ้าจะเปรียบไปแล้ว นักออกแบบก็เหมือนกับคนเขียนบทละครนั่นเอง

แบบ เป็นผลงานจากการออกแบบ เป็นสิ่งที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์และฝีมือของ นักออกแบบ แบบมีอยู่หลายลักษณะ ดังนี้ คือ
1. เป็นภาพวาดลายเส้น (drawing) ภาพระบายสี (Painting) ภาพถ่าย (Pictures) หรือแบบร่าง (Sketch) แบบที่มีรายละเอียด (Draft) เช่น แบบก่อสร้าง ภาพพิมพ์ (Printing) ฯลฯ ภาพต่าง ๆ ใช้แสดงรูปลักษณะของงาน หรือแสดงรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับงาน ที่เป็น 2 มิติ
2. เป็นแบบจำลอง (Model) หรือของจริง เป็นแบบอีกประเภทหนึ่งที่ใช้แสดง รายละเอียดของงานได้ชัดเจนกว่าภาพต่าง ๆ เนื่องจากมีลักษณะเป็น 3 มิติ ทำให้ สามารถเข้าใจในผลงานได้ดีกว่า นอกจากนี้ แบบจำลองบางประเภทยังใช้งานได้ เหมือนของจริงอีกด้วยจึงสมารถใช้ในการทดลอง และทดสอบการทำงาน เพื่อหา ข้อบกพร่องได้

ประเภทของการออกแบบ
1. การออกแบบทางสถาปัตยกรรม (Architecture Design) เป็นการออกแบบเพื่อ การก่อสร้าง สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ นักออกแบบสาขานี้ เรียกว่า สถาปนิก (Architect) ซึ่ง โดยทั่วไปจะต้องทำงานร่วมกับ วิศวกรและมัณฑนากร โดยสถาปนิก รับผิดชอบเกี่ยว กับประโยชน์ใช้สอยและความงามของสิ่งก่อสร้าง งานทางสถาปัยตกรรมได้แก่
- สถาปัตยกรรมทั่วไป เป็นการออกแบบสิ่งก่อสร้างทั่วไป เช่น อาคาร บ้านเรือน ร้านค้า โบสถ์ วิหาร ฯลฯ
- สถาปัตยกรรมโครงสร้าง เป็นการออกแบบเฉพาะโครงสร้างหลักของอาคาร
- สถาปัตยกรรมภายใน เป็นการออกแบบที่ต่อเนื่องจากงานโครงสร้าง ที่เป็นส่วนประกอบของอาคาร
- งานออกแบบภูมิทัศน์ เป็นการออกแบบที่มีบริเวณกว้างขวาง เป็นการจัดบริเวณพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยและความสวยงาม
- งานออกแบบผังเมือง เป็นการออกแบบที่มีขนาดใหญ่ และมีองค์ประกอบซับซ้อน ซึ่งประกอบ ไปด้วยกลุ่มอาคารจำนวนมาก ระบบภูมิทัศน์ ระบบสาธารณูปโภค ฯลฯ

2. การออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design)
เป็นการออกแบบเพื่อการผลิต ผลิตภัณฑ์ ชนิดต่าง ๆงานออกแบบสาขานี้ มีขอบเขตกว้างขวางมากที่สุด และแบ่งออกได้มากมาย หลาย ๆ ลักษณะ นักออกแบบรับผิดชอบเกี่ยวกับประโยชน์ใช้สอยและความสวยงามของ ผลิตภัณฑ์ งานออกแบบประเภทนี้ได้แก่
- งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์
- งานออกแบบครุภัณฑ์
- งานออกแบบเครื่องสุขภัณฑ์
- งานออกแบบเครื่องใช้สอยต่างๆ
- งานออกแบบเครื่องประดับ อัญมณี
- งานออกแบบเครื่องแต่งกาย
- งานออกแบบภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์
- งานออกแบบผลิตเครื่องมือต่าง ๆ ฯลฯ

3. การออกแบบทางวิศวกรรม (Engineering Design)
เป็นการออกแบบเพื่อการผลิต ผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ เช่นเดียวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกัน ต้องใช้ ความรู้ความสามารถและเทคโนโลยีในการผลิตสูง ผู้ออกแบบคือ วิศวกร ซึ่งจะรับผิดชอบ ในเรื่องของประโยชน์ใช้สอย ความปลอดภัยและ กรรมวิธีในการผลิต บางอย่างต้องทำงาน ร่วมกันกับนักออกแบบสาขาต่าง ๆ ด้วย งานอกแบบประเภทนี้ได้แก่
- งานออกแบบเครื่องใช้ไฟฟ้า
- งานออกแบบเครื่องยนต์
- งานออกแบบเครื่องจักรกล
- งานออกแบบเครื่องมือสื่อสาร
- งานออกแบบอุปกณ์อิเลคทรอนิคส์ต่าง ๆ ฯลฯ

4. การออกแบบตกแต่ง (Decorative Design)เป็นการออกแบบเพื่อการตกแต่งสิ่งต่าง ๆ ให้สวยงามและเหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น นักออกแบบเรียนว่า มัณฑนากร (Decorator) ซึ่งมักทำงานร่วมกับสถาปนิก งานออกแบบประเภทนี้ได้แก่
- งานตกแต่งภายใน (Interior Design)
- งานตกแต่งภายนอก (Exterior Design)
- งานจัดสวนและบริเวณ ( Landscape Design)
- งานตกแต่งมุมแสดงสินค้า (Display)
- การจัดนิทรรศการ (Exhibition)
- การจัดบอร์ด
- การตกแต่งบนผิวหน้าของสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น ฯลฯ

5. การออกแบบสิ่งพิมพ์ (Graphic Design)เป็นการออกแบบเพื่อทางผลิตงานสิ่งพิมพ์ ชนิดต่าง ๆ ได้แก่ หนังสือ หนังสือพิมพ์ โปสเตอร์ นามบัตร บัตรต่าง ๆ งานพิมพ์ลวดลายผ้า งานพิมพ์ภาพลงบนสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ งานออกแบบรูปสัญลักษณ์ เครื่องหมายการค้า ฯลฯ

การสื่อความหมายของภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดในอีสาน

การบูรณาการภาพและลายลักษณ์อักษรเพื่อการสื่อสารในงานจิตรกรรมฝาผนัง วัดโพธาราม อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม
The Integration of Image and Text for Communication in the Mural Paintings of Potharam Temple in Nadoon District, Mahasarakham Province
ภาคภูมิ หรรนภา ผู้วิจัย

บทคัดย่อ
การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เข้าใจถึงเนื้อหาวรรณกรรม และรูปแบบของวิธีการผสมผสานระหว่างการสื่อสารด้วยภาพและลายลักษณ์อักษรในงานจิตรกรรมฝาผนังวัดโพธาราม อ.นาดูน จ.มหาสารคาม โดยมีแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องได้แก่ แนวทางการศึกษาเชิงสัญญาณศาสตร์ ทฤษฎีสัญลักษณ์ แนวคิดเรื่องวาทะศิลปเชิงภาพ ทฤษฎีองค์ประกอบศิลป์ ความรู้เกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังไทยและอีสาน และแนวคิดเกี่ยวกับการบูรณาการภาพและลายลักษณ์อักษรในงานจิตรกรรม ทั้งนี้โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อวิเคราะห์ความหมายจากตัวบท (Text)

ผลการวิจัย พบว่า เนื้อหาวรรณกรรมที่พบในการเล่าเรื่องในงานจิตรกรรมฝาผนัง วัดโพธาราม ประกอบด้วย เรื่องราวที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธประวัติ เวสสันดรชาดก และวรรณกรรมท้องถิ่น เรื่องสังข์ศิลป์ชัย ในส่วนรูปแบบของวิธีการผสมผสานระหว่างการสื่อสารด้วยภาพและลายลักษณ์อักษร สามารถจัดแบ่งกลุ่ม รูปแบบของวิธีการผสมผสานระหว่างการสื่อสารด้วยภาพและลายลักษณ์อักษรได้ดังนี้ 1) การผสานรูปแบบภาพและลายลักษณ์อักษรโดยการให้ชื่อ 2) การผสานรูปแบบภาพและลายลักษณ์อักษรโดยอธิบายเหตุการณ์ และ 3) การผสานรูปแบบภาพและลายลักษณ์อักษรโดยการบอกสถานที่

Abstract
The researcher has used variety of ideas and relevant theories as the path to the issue and to the mural painting analysis. Those ideas and theories used for the research consisted of semiotics theory, symbol theory, the idea on rhetoric of the image, composition theory, knowledge of traditional Thai mural paintings and local E-san mural painting as well as ideas on integration of image and text in the mural paintings.

The “Qualitative Research” is the research criteria used for this research to find the meaning from the text. The research on the integration of image and text for communication in the mural paintings of Potharam temple, consists of the Buddhist literature. The Buddhist literature consists of the histories of the Buddha, Wetsandon (name of the Buddha in his tenth existence) and an E-san folk tale named Sung Sil Chai. The criterion of the integration of image and text for communication in Potharam temple can be divided based on the styles of integrations into 1) the integration of image and text by giving the name, 2) the integration of image and text by explaining the incidences, and 3) the integration of image and text by indicating the places.

บทนำ
การสื่อความเข้าใจระหว่างมนุษย์ด้วยกันนั้น นอกจากการใช้ภาษาพูดโดยตรงแล้ว มนุษย์อาจใช้รูปภาพ ตัวอักษร เป็นสื่อในการบอกกล่าว ถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้สึกนึกคิด จากผู้หนึ่งไปยังผู้หนึ่งหรืออาจจากกลุ่มหนึ่งไปยังกลุ่มหนึ่ง และจากคำพูดที่ว่า “ภาพ ๆ เดียวสื่อความหมายได้ดีกว่าคำพูดนับพัน” (a picture says more than a thousand words) หรือ สุภาษิตไทยที่ว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารด้วยภาพ
ดังที่ได้มีการศึกษาธรรมชาติในการรับรู้ของมนุษย์พบว่า มนุษย์เรียนรู้ผ่านทางสายตามากถึงร้อยละ 75 ทางหูร้อยละ 13 ทางสัมผัสร้อยละ 6 ทางจมูกร้อยละ 3 ทางลิ้นร้อยละ 3 และในเรื่องเกี่ยวกับความทรงจำของมนุษย์นั้น พบว่า มนุษย์สามารถจดจำสิ่งที่ได้เห็นถึงร้อยละ 40 แต่สามารถจำสิ่งที่ได้ยินเพียงร้อยละ 20 (เสาวนีย์ สิกขาบัณฑิต, 2528 : 34)
ในชีวิตประจำวันของมนุษย์นั้น จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับภาพและภาษาในการเล่าเรื่อง (story -telling) มาโดยตลอด แรกสุดมนุษย์อาจใช้ภาษาภาพในการเรื่องเล่าเพื่ออธิบายถึงลักษณะและความเป็นมาของธรรมชาติ หรือไม่ก็เพื่อบันทึกและบอกเล่าความเป็นไปของสังคม วัฒนธรรมและตนเอง ในบางครั้งก็เพื่อแสดงออกถึงความคิดความรู้สึกที่ฝังอยู่ในเบื้องลึกของจิตใจ ต่อมาเมื่ออารยธรรมและสังคมมนุษย์มีความเจริญ มนุษย์มีความคิดที่ซับซ้อนมากขึ้น ได้มีการประดิษฐ์คิดค้นการใช้ภาษาลายลักษณ์อักษรที่เป็นระบบ เพื่อใช้ในการสื่อความหมายและสื่อสาร จะเห็นได้ว่ามนุษย์เรานั้นใช้กลวิธีในการเล่าเรื่อง และสื่อความหมายผ่านทางภาษาภาพและภาษาที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อประโยชน์ของชีวิตในบริบทที่แตกต่างกันออกไป
แนวความคิดดั้งเดิมที่ตกทอดกันมาตั้งแต่สมัยอริสโตเติล (Aristotle) นั้นมองว่า เรื่องเล่า ต่างๆ เป็นความพยายามของมนุษย์ที่จะลอกเลียนแบบธรรมชาติ นั่นคือมองว่าเรื่องราวที่เล่าผ่านภาษาภาพและลายลักษณ์อักษร ดังเช่นการสร้างสรรค์ทางด้านจิตรกรรมฝาผนังที่มนุษย์ได้สืบทอดต่อกันมา รวมทั้งภาพเขียนต่าง ๆ นั้น ล้วนแต่สะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาอันเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญ (อารี สุทธิพันธุ์, 2528: 40) และยังสะท้อนถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์อีกด้วย
งานด้านจิตรกรรมฝาผนังได้พัฒนามาเรื่อยๆ จนสามารถบรรยายและเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อ ประวัติศาสตร์ และศาสนาได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเข้าใจได้ง่าย เพราะงานศิลปะเป็นงานภาษาสากลที่สามารถสื่อความหมายและเป็นเงาสะท้อนโลกจริง (real world) องค์ประกอบต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในภาษาภาพและลายลักษณ์อักษรล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อบอกเล่าแนวคิดและความเป็นมาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ความคิดที่เชื่อว่ามนุษย์เราอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยการเล่าเรื่องเป็น Narratorized word และความเป็นจริงที่เราเห็นนั้น ล้วนแต่เกิดจากการประกอบสร้างของมนุษย์ แทบทั้งสิ้น การประกอบสร้างนี้โยงกับภาษาภาพและภาษาลายลักษณ์อักษรตรงที่ว่า ภาพและภาษาลายลักษณ์อักษรพยายามเข้าสู่กระบวนการถ่ายทอด มีผู้อธิบายไว้ว่า สิ่งที่เราเห็นหรือบางคนใช้คำว่า physical reality หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ นั้น ไม่มีความหมายอะไร จนกระทั่งมีผู้มาให้ความหมาย ซึ่งก็คือผู้ประกอบสร้างนั่นเอง
จิตรกรรมฝาผนังเป็นงานศิลปะที่ปรากฏอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ภาคอีสานเป็นภูมิภาคหนึ่งที่ปรากฏงานจิตรกรรมฝาผนังหลายแห่ง นอกจากจะมีการค้นพบตามผนังถ้ำและหน้าผาต่างๆ แล้วยังปรากฏตามโบสถ์แบบพื้นบ้านที่ชาวบ้านเรียกว่า “สิม” ซึ่งนักโบราณคดีและนักวิชาการศิลปะในเขตลุ่มแม่น้ำโขงได้ศึกษาค้นคว้าอย่างมีระบบ บริเวณที่พบจิตรกรรมฝาผนังดังกล่าวมีหลายจังหวัด แสดงให้เห็นถึงร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองของอารยธรรมอีสาน (ประยูร อุลุชาฎะ, 2533 : 96) จิตรกรรมฝาผนังเหล่านั้นได้รับการยอมรับ และยกย่องว่ามีคุณค่าทางศิลปะ อีกทั้งยังมีกลวิธีการสื่อสารที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ในการที่จะสื่อความหมายถึงความเชื่อของสังคม และวัฒนธรรมไทยในอีกแง่มุมหนึ่ง
จังหวัดมหาสารคาม เป็นจังหวัดหนึ่งที่อยู่ตอนกลางอีสาน ซึ่งได้แยกมาจากจังหวัดร้อยเอ็ดในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2408 มีบางพื้นที่เคยเป็นแหล่งอารยธรรมที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาแล้วในอดีต (ปราโมทย์ ทัศนสุวรรณ, 2533: 8) ปัจจุบันจังหวัดมหาสารคามเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของภาคอีสานและยังเป็นจังหวัดที่ปรากฏหลักฐานด้านศิลปวัฒนธรรมอันเป็นมรดกของชาติอีกด้วย
จิตรกรรมฝาผนังสิมวัดต่าง ๆ ในเขตอีสานที่ ไพโรจน์ สโมสร ได้สำรวจว่ามีทั้งหมด 74 วัดนั้น จำนวน 6 วัดปรากฏที่จังหวัดมหาสารคาม จากการศึกษาเบื้องต้นของผู้วิจัย พบว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดในจังหวัดมหาสารคาม แตกต่างจากภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดอื่น กล่าวคือ มีช่างพื้นบ้านเป็นผู้เขียนภาพ ไม่ใช่ช่างหลวงของส่วนกลางที่มีระบบระเบียบแบบแผนที่เคร่งครัด ภาพจิตรกรรมฝาพนังของวัดในจังหวัดมหาสารคามจึงเป็นงานศิลปะพื้นบ้าน (folk arts) ที่แสดงถึงแก่นความเป็นเอกลักษณ์ คุณค่าในรสความงามต่างไปจากช่างสกุลหลวงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งยังมี กลวิธีการใช้ภาษาในการเล่าเรื่องเพื่อสื่อถึงความเชื่อ ตลอดจนแนวคิดต่างๆ ในการสื่อสารความเป็นจริงที่ผู้เขียนภาพต้องการให้ผู้ชมได้รับรู้ และอาจถือได้ว่าภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดเป็นสื่อที่สามารถใช้ภาษาภาพกับลายลักษณ์อักษรนำเสนอเรื่องราวได้อย่างสัมฤทธิ์ผลที่สุดสื่อหนึ่ง จึงทำให้คนจำนวนมากให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าว
จากการสำรวจเบื้องต้น ผู้วิจัยพบว่าวัดโพธารามซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้านดงบัง ตำบลนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เป็นวัดที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด ผู้วิจัยจึงเลือกวัดดังกล่าวเป็นกรณีศึกษา
ในปัจจุบัน แม้ว่าจำนวนผู้ศึกษาทางสาขาการสื่อความหมายของภาพและลายลักษณ์อักษร ทั้งในระบบการศึกษาที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี แต่การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสื่อความหมายร่วมของภาพและลายลักษณ์อักษรในจิตรกรรมฝาผนังหรือการศึกษา วิจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาพและลายลักษณ์อักษรยังมีอยู่น้อยมาก ความเข้าใจและความสามารถใน การอธิบายเกี่ยวกับกระบวนการสื่อความหมายทางภาพและลายลักษณ์อักษรจึงอาจจะยังมีขอบเขตที่ไม่กว้างขวางนัก อย่างไรก็ตาม มุมมองร่วมสมัยมองว่าเรื่องเล่าและการสื่อความหมายด้วยภาษาภาพกับการสื่อความหมายด้วยภาษาลายลักษณ์อักษร สามารถที่จะสื่อสารและสื่อความหมายร่วมกันได้ ทำให้จุดมุ่งหมายในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาษาภาพและลายลักษณ์อักษรเปลี่ยนไปจากเดิม โดยหันมามุ่งเน้นที่จะศึกษาการสื่อความหมายร่วมกัน เพื่อที่จะค้นหาคำตอบว่า การสื่อสารด้วยภาพและลายลักษณ์อักษรในงานจิตกรรมพื้นบ้านซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะมีวิธีการผสมผสานเพื่อให้เกิดการส่งเสริมเกื้อกูลกันระหว่างภาพและภาษาลายลักษณ์อักษรอย่างไร
ดังนั้นการศึกษาการบูรณาการภาพและลายลักษณ์อักษรเพื่อการสื่อสารในจิตรกรรมฝาผนังวัดโพธาราม อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ อันจะนำไปสู่องค์ความรู้ที่หลากหลาย และเปิดทางเลือกให้แก่ผู้ที่สนใจเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังควรค่าแก่การศึกษาค้นคว้าอย่างยิ่ง

ปัญหานำวิจัย
1. เนื้อหาวรรณกรรมที่พบในการเล่าเรื่องในงานภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดโพธารามมีเรื่องอะไรบ้าง
2. รูปแบบของวิธีการการสื่อสารด้วยภาพและลายลักษณ์อักษรในงานจิตรกรรมฝาผนังวัด
โพธารามมีวิธีการในการผสมผสานกันอย่างไร

ขอบเขตการวิจัย
ผู้วิจัยจะศึกษาภาพจิตรกรรมฝาผนังและลายลักษณ์อักษรของวัดโพธาราม บ้านดงบัง ตำบลนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม โดยศึกษาเฉพาะบริเวณผนังด้านนอกเท่านั้น เพราะผนังด้านในไม่ใช้พื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถเขาไปได้ และผู้วิจัยจะศึกษาเรื่องราวของภาพจิตรกรรมฝาผนังทุกเรื่องและลายลักษณ์อักษรทุกประเภทได้แก่อักษรธรรม อักษรไทยน้อย ที่ปรากฏบนฝาผนังของวัดโพธาราม บ้านดงบัง ตำบลนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม
แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องในการศึกษาวิจัยครั้งนี้
ผู้วิจัยได้ใช้แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องเป็นแนวทางในการเข้าสู่ปัญหา และการศึกษาวิเคราะห์งานจิตรกรรมฝาผนังดังนี้
1. แนวทางการศึกษาเชิงสัญญาณศาสตร์ (Semiotics)
2. ทฤษฎีสัญลักษณ์ (Symbol theory)
3. แนวคิดเรื่องวาทศิลป์เชิงภาพ (Rhetoric of the image)
4. ทฤษฎีองค์ประกอบศิลป์ (Composition)
5. ความรู้เกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังไทยและอีสาน
6. แนวคิดเกี่ยวกับการบูรณาการภาพและลายลักษณ์ในงานจิตรกรรม

ระเบียบวิธีวิจัย
ในการศึกษาวิจัยเรื่อง “การบูรณาการภาพและลายลักษณ์อักษรเพื่อการสื่อสารในจิตรกรรมฝาผนังวัดโพธาราม อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม” นี้ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยในลักษณะที่เรียกว่า การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในการวิเคราะห์เพื่อหาความหมายจากตัวบท (text) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและเรื่องราวที่ปรากฏในภาพจิตรกรรม แหล่งข้อมูลที่ผู้วิจัยใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังและลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏบนผนังสิมวัดโพธาราม บ้านดงบัง ตำบลนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม
ในขั้นตอนของการเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยได้ถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีลายลักษณ์อักษร ทุกด้านของสิม จำนวน 26 ภาพ
การวิเคราะห์ข้อมูล ข้อมูลส่วนที่เป็นภาพ วิเคราะห์การสื่อความหมายการเล่าของภาพโดยใช้แนวทางการศึกษาเชิงสัญญาณศาสตร์ ทฤษฎีสัญลักษณ์ แนวคิดเรื่องวาทะของภาพ และทฤษฎีองค์ประกอบศิลป์ เป็นกรอบในการวิเคราะห์ข้อมูล
ข้อมูลส่วนที่เป็นลายลักษณ์อักษร วิเคราะห์การสื่อความหมายและตำแหน่งของลายลักษณ์อักษร โดยใช้ทฤษฎีสัญลักษณ์ แนวคิดเรื่องวาทะของภาพ และทฤษฎีองค์ประกอบศิลป์
เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลแต่ละส่วนแล้ว ผู้วิจัยจะนำมาศึกษาวิธีการผสมผสานในการสื่อความหมายร่วมกันระหว่างภาพและลายลักษณ์อักษร

สรุปผลการวิจัย
การบูรณาการภาพและลายลักษณ์อักษรเพื่อการสื่อสารในงานจิตรกรรมฝาผนังวัด โพธาราม อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม สามารถสรุปการวิเคราะห์ ได้ดังหัวข้อต่อไปนี้

1. เนื้อหาวรรณกรรมที่พบในการเล่าเรื่องในงานจิตรกรรมฝาผนังวัดโพธาราม
เรื่องราวที่ช่างแต้มวาดและถ่ายทอดบนผนังวัดโพธาราม มีสื่อความหมายเพื่อเล่าเรื่องราวที่อยู่ในวิถีชีวิตของชาวบ้าน เป็นเรื่องราวที่ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา หรือเป็นเรื่องที่ช่างวาดประทับใจ จากการวิเคราะห์การเล่าเรื่องบนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดโพธาราม สามารถแบ่งประเภทเรื่องราวได้เป็น 3 ประเภทดังนี้
1.1 เรื่องราวที่เกี่ยวกับประวัติพุทธศาสนา
ในงานฝาผนังวัดโพธาราม ช่างแต้มได้วาดเรื่องพุทธประวัติ และชาดกเรื่องพระเวสสันดร ตัวอย่างเรื่องเวสสันดร ตอนมหาภิเนษกรมณ์ รูปเล่าเรื่องว่า เจ้าชายสิทธัตถะเข้ามาเห็นนางกำนัลนอนเผลอหลับใหลไม่ได้สติ ทำให้เห็นภาพอุจาดเกิดการสังเวช เหนื่อยหน่ายในโลกียวิสัย จึงตัดสินใจออกบรรพชา
1.2 เรื่องราววรรณกรรมท้องถิ่น เช่น สินไช
นิทานเรื่องสินไชเป็นนิทานที่ชาวบ้านรู้จักแพร่หลาย เพราะเรื่องสินไชให้ความเพลิดเพลิน
แก่ผู้ชม รวมทั้งสลับกับเรื่องราวที่สอนธรรมะ คติเตือนใจผู้คนไปด้วย รวมทั้งมีการถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตชาวบ้านนั้น ช่างแต้มทำอยู่ 2 ลักษณะคือ วาดรูปชีวิตชาวบ้านเพื่อสื่อเรื่องราวโดยตรงไม่มีเนื้อหาหลัก ช่างแต้มแทรกไว้เพื่อบอกเล่าโดยตรง อีกลักษณะหนึ่งคือสะท้อนชีวิตชาวบ้านทางอ้อม

การวิเคราะห์ลักษณะการวาดภาพเนื้อหาวรรณกรรมในการสื่อความหมายของช่างแต้มที่วาดผนังวัดโพธาราม อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม สามารถสรุปการจำแนกภาพที่วาดได้ดังนี้
ก) การวาดภาพบุคคล
ช่างนิยมวาดใบหน้าคนเป็นหน้าตรง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลชั้นสูงหรือสามัญชน หากเป็น
การวาดใบหน้าผู้ชายจะวาดใบหน้าด้านข้างและเป็นด้านข้าง 90 องศา ยกเว้นพระพุทธเจ้าจะวาดเฉพาะหน้าตรง ทั้งนี้เพราะว่าการวาดใบหน้าด้านข้างไม่สามารถแสดงความงามของใบหน้าได้ชัดเจน ดังนั้นใบหน้าของผู้หญิงจึงเป็นใบหน้าตรงทั้งหมด แม้ว่าลำตัวของผู้หญิงจะหันไปด้านข้างก็ตาม สามารถจำแนกภาพบุคคลได้ดังนี้ คือ 1) รูปบุคคลชั้นสูง ได้แก่รูปพระพุทธเจ้า รูปเทวดา รูปกษัตริย์ 2)รูปสามัญชน ได้แก่เสนาอำมาตย์และทหาร นางสนมกำนัล ชาวบ้าน 3)รูปคนชั้นต่ำ
ข) ลักษณะการวาดรูปสัตว์
ลักษณะของรูปสัตว์ส่วมมากเป็นสัตว์ที่เห็นได้ในท้องถิ่นช่างวาดเลียนแบบของจริงสัตว์ใน
จินตนาการมีอยู่บ้างแต่น้อย อย่างรูปในวัดโพธารามนั้นมีรูปไกรสรราชสีห์ หรือสีโห ช่างชาวบ้านมักเขียนตามแบบช่างหลวง ลีลาท่าทางของสัตว์ก็แตกต่างกันตามเรื่องที่เขียน
ค) ลักษณะการวาดรูปบ้านเรือน
ลักษณะรูปอาคารบ้านเรือนในวัดโพธาราม ได้แก่ รูปปราสาท บ้านเรือน ส่วนรูปปราสาทราช
วัง บ้านเรือนช่างจะวาดตามแบบที่มีในท้องถิ่น และมักเขียนรูปขนาดใหญ่เพื่อเป็นจุดเด่นของภาพ
ง) ลักษณะการวาดรูปภูมิประเทศ
ภูมิประเทศเป็นฉากประกอบเนื้อเรื่องช่างจะวาดให้สอดคล้องกับเรื่องราวนั้นๆ เช่น ป่า ภูเขา
เป็นต้น ซึ่งภาพวาดภูมิประเทศในวัดโพธารามสามารถจำแนกได้ดังนี้ คือ 1)รูปต้นไม้ ช่างจะวาดต้นไม้เลียนแบบของจริง 2) รูปพื้นดินและภูเขา 3) ภาพท้องฟ้า
2.รูปแบบของวิธีการผสมผสานระหว่างการสื่อสารด้วยภาพและลายลักษณ์อักษรในงานจิตรกรรมฝาผนังวัดโพธาราม
การที่ภาพวาดบนผนังวัดโพธารามมีลายลักษณ์อักษรเข้ามาประกอบในการสื่อความหมายในภาพ ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการจดจำ ช่วยดึงดูดสายตา ให้ความรู้และให้คนเชื่อถือในภาพที่เห็นนั้น ในการสื่อความหมายโดยใช้ลายลักษณ์อักษรในงานจิตรกรรมฝาผนัง ช่างแต้มตั้งใจนำตัวอักษรมาเขียนแทรกไว้เพื่อเล่าเรื่องราวที่ถ่ายทอดบนภาพจิตรกรรม บางครั้งการวาดภาพของช่างแต้มซึ่งเป็นช่างพื้นบ้าน การวาดภาพบางรูปอาจยังไม่ชัดเจนเพียงพอในการสื่อความหมายให้ชาวบ้านที่ชมเข้าใจได้ง่าย จึงจำเป็นต้องใช้ตัวอักษร ในการช่วยอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องราว และคำสั่งสอนของเรื่องทั้งหมด
สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการสื่อความหมายของลายลักษณ์อักษรบนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดก็คือ การวาดภาพของช่างแต้มนั้น ช่างแต้มไม่ได้แบ่งพื้นที่การวาดภาพแต่ละเรื่องอย่างชัดเจนว่าส่วนใดจะวาดเรื่องใด ช่างแต้มวาดภาพจากที่ว่างที่มีอยู่บนผนัง การวาดภาพจึงมีเรื่องหลายเรื่องวาดปะปนกันอยู่ ทำให้ผู้วาดภาพจิตรกรรมหรือช่างแต้มจำเป็นต้องใช้ตัวอักษรกำกับภาพเอาไว้เพื่อให้ชาวบ้านที่มาชมความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ
ภาพทุกภาพล้วนมีศักยภาพที่จะสื่อความหมายได้หลายความหมาย (polysemous) ทั้งสิ้น และทำให้ผู้อ่านสามารถเลือกความหมาย บางตัวและมองข้ามบางตัวไปได้ ลักษณะหลายนัยยะนี้ก่อให้เกิดปัญหาความชัดเจนในการสื่อความหมาย ด้วยเหตุนี้ในทุกสังคมจึงมีการพัฒนาเทคนิควิธีการต่าง ๆ ขึ้นมามากมาย เพื่อที่จะ “กำกับ” ความหมายมิให้ลอยตัวจนเกินไป การใช้ตัวอักษรมากำกับก็เป็นเทคนิควิธีการหนึ่ง
ลายลักษณ์อักษรมีบทบาทช่วยสนับสนุนความหมายของภาพวาด ซึ่ง Barthes (ประชา สุวีรานนท์, 2538 : 118-120) เห็นว่า สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่หลักของลายลักษณ์อักษรเลยทีเดียว ลายลักษณ์อักษร จะ “ชี้นำ” ผู้อ่านไปสู่การค้นพบตัวความหมายของภาพ ทำให้เขามองข้ามความหมายบางตัวและรับรู้แต่เฉพาะบางความหมายอาศัยการ “ขับไล่” ความหมายตัวอื่น ๆ ไปให้พ้นอย่างแนบเนียน การกำกับความหมายด้วยลายลักษณ์อักษรจะควบคุมคนอ่านและนำเขาไปค้นพบความหมายที่ถูกเตรียมไว้ล่วงหน้าแล้ว จะเห็นได้ว่าลายลักษณ์อักษรทำหน้าที่ขยายความ แต่การขยายความนี้มีการเลือกสรรและเป็นลายลักษณ์อักษรเชิงอธิบาย ซึ่งเจาะจงใช้กับสัญญะบางตัวเท่านั้น การกำกับความหมายของภาพด้วยลายลักษณ์อักษรจึงเป็นการจำกัดศักยภาพในการสื่อความหมายของภาพให้เหลือเพียงส่วนที่คนวาดภาพที่ต้องการ

ภาพจิตรกรรมฝาผนังจะมีสารทางภาษาปรากฏอยู่ในภาพวาด ไม่ว่าจะเป็นในรูปของชื่อภาพ คำบรรยายภาพ เพราะภาพและข้อความต่าง ๆ ก็ช่วยทำให้เรื่องราวที่นำเสนอมีความชัดเจนมากขึ้น ภาพช่วยอธิบายความหมายของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เห็นเป็นรูปธรรม แม้แต่คนไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ก็ยังเข้าใจได้ ส่วนลายลักษณ์อักษรก็ช่วยอธิบายรายละเอียดที่ภาพวาดไม่สามารถสื่อความหมายได้ เช่น บุคคลในภาพชื่ออะไร เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ใด ในกรณีที่สถานที่นั้น ไม่ได้เป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียง ลายลักษณ์อักษรจึงช่วยทำให้การสื่อความหมายมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ตำแหน่งการเขียนลายลักษณ์อักษรเป็นส่วนที่สำคัญเป็นการกำหนดขอบเขตการสื่อความหมายของภาพวาดได้ เพราะการวาดภาพบนผนังวัดโพธารามช่างจะวาดบนผนังหลายเรื่องราวปะปนกัน ตำแหน่งของตัวอักษรก็จะเป็นตัวกำหนดขอบเขตการสื่อความหมาย
ลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏในภาพวาด ถูกนำมาใช้อ้างอิงและยังสื่อความหมายของภาพวาดได้เป็นอย่างดี ตัวละคร สถานที่ และเหตุการณ์ต่างๆ ในภาพวาดจะมีคำอธิบายตัวมันเอง ทำให้ ตัวละคร สถานที่ และเหตุการณ์นั้นมีความสำคัญมากขึ้น ลายลักษณ์อักษรและภาพวาดจะเป็นตัวบอกชื่อ สถานที่ และเหตุการณ์ และความเป็นมาของตัวละคร นั้นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม หากมองในอีกแง่หนึ่ง ลายลักษณ์อักษรและภาพวาดที่ปรากฏก็เป็นสิ่งสำคัญในการตีความภาพจิตรกรรม ลายลักษณ์และภาพวาดจะถูกนำมาเชื่อมโยงต่อกันเพื่อสื่อความหมายร่วมกัน แต่ในการสื่อความหมายนั้น ก็ไม่ได้มีการลำดับขั้นที่ชัดเจนว่าจะต้องเริ่มตีความจากส่วนใดก่อน

การอภิปรายผลการศึกษา
การสร้างฮูบแต้มและการวาดภาพบนผนังเป็นการสื่อสารเล่าเรื่องโดยอาศัยภาพวาดและตัวอักษรเป็นเครื่องมือในการสื่อสารระหว่างช่างแต้มกับผู้ชม จากแนวคิดจิตรกรรมฝาผนังอีสานได้กล่าวถึงการสร้างและวาดภาพบนผนังเพื่อพิธีกรรมและมาจากแรงจูงใจคนสร้างเป็นสำคัญ เรื่องราวของฮูบแต้มที่เขียนเป็นการเลียนแบบของจริงนั้น มักเป็นเรื่องพิธีกรรม การใช้ชีวิตของคนในยุคสมัยนั้นๆ การนำเสนอเรื่องที่วาดเป็นการสื่อความหมายในเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ แม้วัฒนธรรมการสร้างฮูบแต้มบนผนังสิมในภาคอีสานไม่ได้สืบทอดมาจากวัฒนธรรมการสร้างฮูบแต้มบนผนังถ้ำโดยตรงเพราะฮูบแต้มบนผนังถ้ำเพื่อความสวยงาม แต่คติในการสร้าง ฮูบแต้มบนผนังสิมไม่ใช่เพื่อความงดงามอย่างเดียว แต่ภาพวาดบนผนังสิมเป็นการสั่งสอน รวมทั้งแสดงความเชื่อของผู้คนในยุคนั้นด้วย
การวาดภาพบนผนังสิมยังเป็นการสื่อสารเล่าเรื่องโดยอาศัยภาพวาดและตัวอักษร เป็นเครื่องมือในการสั่งสอนศีลธรรม ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา แสดงวิถีชีวิตคนในท้องถิ่นให้ความรู้ ให้คติ และความเพลิดเพลิน ทำให้คนดูเกิดอรรถรสและจินตนาการต่างไปจากการฟัง

ส่วนรูปแบบของวิธีการผสมผสานระหว่างการสื่อสารด้วยภาพและลายลักษณ์อักษรในงานจิตรกรรมฝาผนังวัดใช้แนวทางการศึกษาสัญญาณศาสตร์ (Semiotics) โดยให้ความสำคัญกับการหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวหมาย (signifier) กับตัวหมายถึง (signified) เพื่อดูว่าความหมายถูกสร้างขึ้นและถูกถ่ายทอดออกมาอย่างไร ส่วนรูปแบบของวิธีการผสมผสานระหว่างการสื่อสารด้วยภาพและลายลักษณ์อักษรนั้น เป็นสัญลักษณ์ที่สร้างขึ้นในระบบสังคมเป็นที่เรียนรู้ได้ มีลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ 1) เข้าใจได้จากการเรียนรู้ของปัจเจกบุคคล 2) มีความหลากหลายในแต่ละสังคม 3) สามารถเปลี่ยนแปลงได้ภายในบุคคลหรือสังคมเดียวกันขึ้นอยู่กับบริบท

ข้อเสนอแนะ
การศึกษาเรื่อง “การบูรณาการภาพและลายลักษณ์อักษรเพื่อการสื่อสารในงานจิตรกรรม ฝาผนังวัดโพธาราม อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม” นับว่าเป็นเรื่องที่ใหม่ ซึ่งยังไม่มีผู้ให้ความสนใจในการศึกษา ผู้วิจัยมีความเห็นว่ายังมีแง่มุมอื่นๆ ที่จะศึกษากี่ยวกับ การบูรณาการภาพและลายลักอักษรเพื่อการสื่อสารในงานจิตรกรรมฝาผนังวัด ดังนี้ เช่นควรมีการศึกษาการบูรณาการภาพและลายลักษณ์อักษรเพื่อการสื่อสารในงานจิตรกรรมฝาผนังวัดที่วัดอื่นๆ และเปรียบเทียบ

6/12/2550

ถังข่าว หัวใจของบริษัทเนชั่น

“ถังข่าว” พื้นที่สาธารณะ หัวใจของบริษัทข่าวเนชั่น

ภาคภูมิ หรรนภา*

หนังสือพิมพ์ เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีความสำคัญในยุคปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีข่าวสารด้านต่างๆเข้ามาให้มนุษย์ได้เสพมากมาย แต่หนังสือพิมพ์ก็ยังมีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ มนุษย์สามารถรับข่าวสาร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งใกล้ตัวและไกลตัวในบ้านเมืองได้จากหนังสือพิมพ์
คำว่า “หนังสือพิมพ์” ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 ระบุว่า หนังสือพิมพ์ หมายถึง สิ่งพิมพ์ที่มีการจ่าหน้าเดียวกัน และออก หรือเจตนาจะออกตาม ลำดับเรื่องไปมีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็ตาม มีข้อความต่อเนื่องหรือไม่ก็ตาม(พิศิษฐ์ ชวาลาธวัช, 2541 : 207)
อย่างไรกตาม ความหมายหรือคำจำกัดความ “หนังสือพิมพ์” ได้มีผู้นิยามไว้จากบุคคลหลายๆอาชีพ อาทิเช่น นักประวัติศาสตร์ นักเศรษฐศาตร์ นักการเมือง นักทฤษฎีด้านสื่อสารมวลชน สามารถสรุปคำว่า “หนังสือพิมพ์” หมายถึงสิ่งพิมพ์ที่ออกตามเวลา และตีพิมพ์ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญๆให้กับผู้อ่านได้รับรู้เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น เพื่อให้แง่คิด เตือนภัย แก่ผู้อ่านที่เป็นประชาชนทั่วไป(ปุณณรัตน์ พิงคานนท์, 2548)
การคำจำกัดความดังกล่าวเห็นได้ว่าคำว่า “หนังสือพิมพ์” นั้นครอบคลุมถึงหนังสือพิมพ์ที่ออกในวาระต่างๆ กันไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ รายปักษ์ หรือรายเดือนเป็นต้น ส่วนผู้อ่านนั้นเป็นประชาชนที่อยู่ในชุมชนต่างๆ ส่วนขนาดขององค์กรหนังสือพิมพ์นั้น มีทั้งองค์กรขนาดใหญ่ องค์กรขนาดกลาง องค์กรขนาดเล็ก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดำเนินงานของเจ้าของกิจการแต่ละฉบับ(สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ(2546)
พีระ จิรโสภณ(2532)กล่าวว่าโดยทั่วไปตามหลักวารสารศาสตร์สากล หนังสือพิมพ์ สามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภทได้แก่ หนังสือพิมพ์ประเภทประชานิยม(popular newspaper) หนังสือพิมพ์ประเภทคุณภาพ(quality newspaper)
1. หนังสือพิมพ์ประเภทประชานิยม(popular newspaper) หรือหนังสือพิมพ์ปริมาณ
(quantity) เป็นหนังสือพิมพ์ที่คนทั่วไปนิยมอ่านกันอย่าแพร่หลายและมีจำนวนจำหน่ายสูง แต่อย่างไรก็ตาม ข้อบ่งชี้บอกถึงลักษณะของหนังสือพิมพ์ประเภทนี้ไม่ได้อยู่ที่ยอดจำหน่ายเป็นสำคัญ หากอยู่ที่ลักษณะเนื้อหาและวิธีการนำเสนอเนื้อให้ผู้อ่าน จุดเด่นของหนังสือพิมพ์ประเภทนี้คือ เน้นการเสนอข่าวที่เร้าอารมณ์ผู้อ่าน(Sensational) เช่น ข่าวอาชญากรรม ข่าวภัยพิบัติ ข่าวความขัดแย้งรุนแรงต่างๆ ข่าวลักษณะนี้เป็นข่าวประเภทที่คนทั่วไปสนใจบางทีเรียกว่า “ข่าวเบา” (Soft news) หนังสือพิมพ์ที่ถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์ประชานิยมและนำเสนอข่าวเบาได้แก่ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์
2. หนังสือพิมพ์ประเภทคุณภาพ(quality newspaper) ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเป็น
หนังสือพิมพ์ที่มีคุณภาพเสมอดีไป แต่หมายถึงลักษณะการนำเสนอข่าวเป็นประเภทข่าวหนัก(Hard news) เช่นข่าวเศษรฐกิจ การเมือง สังคม การศึกษา เป็นต้น ข่าวประเภทนี้มุ่งให้ความรู้เป็นสำคัญ หนังสือพิมพ์ที่ถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์ประเภทคุณภาพและนำเสนอข่าวหนักเป็นหลัก ได้แก่ หนังสือพิมพ์มติชน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ เป็นต้น
ในส่วนของ ดรุณี หิรัญรักษ์ (2543 ) กล่าวไว้ว่า ปัจจุบันการแบ่งประเภทมีการเพิ่มขึ้นอีก 1 ประเภทคือ หนังสือพิมพ์ประเภทผสมผสาน(Combination Newspaper) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่ผสมผสานระหว่างปริมาณและคุณภาพเข้าไว้ด้วยกัน เน้นนำเสนอทั้งข่าวเบา(Soft news) และข่าวหนัก(Hard news) หนังสือพิมพ์ที่ถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์ประเภทผสมผสานและนำเสนอทั้งข่าวเบา และข่าวหนักในปริมาณที่เท่าๆ กัน ได้แก่ หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก ซึ่งก็เป็นหนังสือพิมพ์แบบผสมผสานในช่วงแรกที่เปิดตัวเท่านั้น
แต่ปัจจุบันหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ถูกจัดอยู่ในหนังสือพิมพ์ประเภทที่ 1 คือหนังสือพิมพ์ประเภท ประชานิยม (Popular Newspaper) หนังสือพิมพ์ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันคือ หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่างหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หนังสือพิมพ์ข่าวสด เป็นต้น
หนังสือพิมพ์กับหลักการบริหาร
ความหมายของการบริหารหรือการจัดการ หมายถึง กระบวนการในการนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่ได้แก่ วัสดุสิ่งของ เครื่องจักร หรือเครื่องมือที่ใช้ในการผลิต และเงินทุนมาใช้ดำเนินการให้สำเร็จไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
การบริหารหรือการจัดองค์กร (Management) มีตั้งแต่ระดับง่ายไปจนถึงระดับที่ซับซ้อน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดขององค์กรเป็นสำคัญ ถ้าเป็นองค์กรขนาดเล็ก การบริหารองค์กรก็ไม่ยุ่งยากซับซ้อนมากเท่าไหร่ ตรงข้ามกันถ้าองค์กรที่มีขนาดใหญ่ มีเครือข่ายงานมากบุคลากรมาก การบริหารจัดการงานในองค์ก็มีความซับซ้อนมากขึ้นตามลำดับ
หนังสือพิมพ์เป็นองค์กรธุรกิจประเภทหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์หลักของการประกอบธุรกิจที่แสวงหากำไร การจัดทำหนังสือพิมพ์ต้องใช้ทุนเป็นจำนวนมากมหาศาล การลงทุนก็คือการซื้อเครื่องจักร ยานพาหนะ อาคารสถานที่ การจ้างบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต เป็นต้น การทำธุรกิจหนังสือพิมพ์ถือว่าเป็นการลงทุนที่สูงมากจึงจำเป็นที่ต้องอาศัยกระบวนการการบริหารงานหรือการจัดการอย่างมีระบบ ในการดำเนินกิจการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้และหวังผลด้านกำไร
องค์กรธุรกิจหนังสือพิมพ์โดยทั่วไปถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในด้านกลุ่มผู้อ่าน นโยบายและปรัชญาของการจัดทำ แต่หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่จะมีความคลายคลึงกันในด้านการจัดองค์กร โดยที่หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่จะแบ่งการบริหารองค์กรที่ประกอบไปด้วยหน่วยงานหลักดังนี้
1. เจ้าของ / ผู้บริหาร หน่วยงานนี้มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการวางแผนและนโยบาย ตลอดจนดูแลในด้านการเงินขององค์กรให้เป็นไปตามขั้นตอน บุคคลระดับบริหารที่สำคัญ ผู้ที่เป็นเจ้าของ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา หรือผู้จัดการทั่วไป หนังสือพิมพ์ที่มีขนาดใหญ่มักจะมีบุคคลดังนี้ บรรณาธิการ ผู้อำนวยการฝ่ายต่างๆ
2. ฝ่ายโฆษณา หน่วยงานนี้รับผิดชอบในด้านการขายพืนที่หนังสือพิมพ์ให้กับวงการธุรกิจต่างๆ ที่มีความต้องการจะขายสินค้า นอกจากนี้ยังมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำออกแบบร่วมกับเจ้าของสินค้าที่จะมาลงในหนังสือพิมพ์
3. ฝ่ายจัดจำหน่าย บทบาทหน้าที่และขอบข่ายความรับผิดชอบของหน่วยงานนี้ คือการวางแผนการจัดจำหน่ายจ่ายแจก การจัดส่งหนังสือพิมพ์ ในรูปแบบต่างๆ ให้ถึงมือผู้อ่านได้ทันเวลา และทำให้หนังสือพิมพ์มีจำนวนจำหน่ายมากที่สุด
4. ฝ่ายข่าวและกองบรรณาธิการ หน้าที่หน่วยงานนี้เกี่ยวข้องกับการวางแผนการเตรียมการจัดหาเนื้อหา ข่าวสารและข้อมูลต่างๆ เพื่อทำต้นฉบับ หน่วยงานนี้ประกอบไปด้วย บรรณาธิการ นักข่าว ช่างภาพ ผู้ตรวจข่าว ผู้พิสูจน์อักษร เป็นต้น
5. ฝ่ายจัดพิมพ์ หน้าที่หน่วยงานนีเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการพิมพ์ตั้งแต่เตรียมการพิมพ์ไปจนขั้นสุดท้ายของการพิมพ์ จนเสร็จสมบูรณ์ พร้อมที่จะจำหน่ายไปยังผู้อ่าน
องค์กรหนังสือพิมพ์บางแห่ง อาจจะไม่มีหน่วยงานครบอย่างที่กล่าวมาข้างต้นก็ได้ขึ้นอยู่กับต้นทุนขององค์กรนั้นๆ แต่จะอาศัยการจัดทำและรับบริการจากแห่งอื่น
ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ เนชั่น
จุดเริ่มต้นศูนย์ข่าวเนชั่น
บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (มหาชน) ก่อตั้งครังแรกในปี พ.ศ. 2514 ภายใต้ชื่อ บริษัทเดอะเนชั่น จำกัด กลุ่มก่อตั้งกลุ่มแรก โดยนายธรรมนูญ มหาเปาะ, นายสุทธิชัย หยุ่น, ม.ร.ว.สุนิดา กิติยากร จัดทำหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษชื่อ The Voice of The Nation เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2514 ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับแรกของคนไทย (ดรุณี หิรัญรักษ์,2543)
หลังจากก่อตั้งได้ 1 ปี ก็ออกหนังสือในเครือเพิ่มอีก 1 ฉบับ คือ Business Review เป็นนิตยสารรายเดือน เริ่มเดือนพฤษจิกายน 2515
ในระยะแรกบริษัทมีปัญหาเรื่องการเงิน และการตลาด จึงหยุดกิจการชั่วคราว หลังจากนั้นได้มีการรวมตัวใหม่ โดยใช้ชื่อว่า บริษัท บิสซิเนส รีวิว จำกัด และออกหนังสือใหม่ใช้ชื่อว่า The Nation Review ในเดือนพฤษจิกายน 2519 หลังจากนั้นก็มีการปรับปรุงหนังสือ บริษัทเริ่มมีกำไรในปี พ.ศ. 2528 เปลี่ยนชื่อเป็น The Nation
ในปี 2530 บริษัทได้จัดทำหนังสือพิมพ์ภาษาไทยรายวันชื่อ กรุงเทพธุรกิจ เพื่อตอบสนองผู้อ่านที่สนใจจะรับรู้เรื่องข่าวสารด้านธุรกิจ ในปีเดียวกันได้ทำสัญญาเป็นตัวแทนจำหน่ายหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ คือ The Asian Wall Street Journal และทำสัญญาส่งเสริมการขายร่วมกับ Asia Week
ต่อมาในปี 2531 บริษัทบิสซิเนส รีวิว จำกัด ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทเนชั่น พับลิชชิ่ง กรุ๊ป และได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียน และในปีเดียวกัน บริษัทเนชั่น พับลิชชิ่ง กรุ๊ป ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
การบริหารงานธุรกิจของบริษัทหลังจากจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้มีการระดมทุนโดยการเพิ่ม เพื่อขยายกิจการ และขยายงานต่าง ๆ เช่น สร้างสำนักงานอาคารเนชั่นทาวเวอร์ และโรงพิมพ์
เนชั่นขยายธุรกิจด้านสื่อสิ่งพิมพ์
นอกจากนี้บริษัทได้ขยายสื่อสิ่งพิมพ์ในเครือ เช่น จัดทำหนังสือกรุงเทพธรุกิจสุดสัปดาห์ (2534) รับจ้างเป็นผู้พิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือพิมพ์ โยมิอุริ ชิมบุน(Yomiuri Shimbun) ในประเทศไทย
ในปี 2535 บริษัทได้ขยายสื่อสิ่งพิมพ์ขึ้นหลายฉบับ ได้แก่ หนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์ สองภาษาในฉบับเดียว คือ เนชั่น คอมมิคส์ ในปีเดียวกันบริษัทได้ออกสื่อสิ่งพิมพ์ในเครืออีกฉบับ คือ เนชั่น จูเนียร์ เป็นนิตยสารรายปักษ์ภาษาอังกฤษ
ในปี 2536 ได้นำเอาเทคโนโลยีดาวเทียมมาใช้เป็นประโยชน์ในการผลิตหนังสือพิมพ์และเป็นการขยายตลาดให้กว้างขึ้น บริษัทได้ออกหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจฉบับดาวเทียม ฉบับแรกของประเทศไทยที่จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาเปิดกรุงเทพธุรกิจฉบับดาวเทียมภาคใต้ที่สงขลา กรุงเทพธุรกิจฉบับดาวเทียมภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขอนแก่น
ปัจจุบันหนังสือพิมพ์รายวันน้องใหม่ของบริษัทเนชั่น คือ หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก เป็นหนังสือพิมพ์ประเภทหัวสีหรือเรียกว่าหนังสือพิมพ์เชิงปริมาณ และ เป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่แย่งส่วนแบ่งในตลาดได้น่ากลัวทีเดียว


การข้ามสื่อ(Cross Media)ของเนชั่น
บริษัทเนชั่น ได้ทำการขยายธุรกิจไปสื่ออื่นด้วย โดยการขยายไปยังวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ โดยเริ่มในปี 2534 โดยทำรายการวิเคราะห์ข่าวในรายการสถานีวิทยุ และในปี 2535 มีโครงการ News Station เป็นการรายงานข่าวทุกต้นชั่วโมง และสรุปวิเคราะห์ข่าวการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
ส่วนรายการโทรทัศน์ บริษัทเนชั่นได้ทำรายการวิเคราะห์ข่าวเหตุการณ์ที่สร้างชื่อเสียงให้บริษัทเนชั่นนั้น คือการวิเคราะห์ข่าววิกฤตการณ์อ่าวเปอร์เซีย ปัจจุบันเนชั่นได้เปิดช่องข่าว 24 ชั่วโมง คือ ช่องข่าวเนชั่น ในเคเบิ้ลทีวี
“ถังข่าว” หัวใจ ของบริษัทข่าวเนชั่น
ถ้าสังเกตบริษัทเนชั่นจะเห็นได้ว่า บริษัทแห่งนี้เป็นบริษัทที่เน้นการทำข่าว มีหนังสือพิมพ์และหนังสือหลายหัวอยู่ในบริษัทเดียวกัน รวมรายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ ถ้าตามหลักการจัดองค์กรของหนังสือพิมพ์ หรือบริษัทข่าวในเครือเนชั่น การทำข่าวบริษัทแต่ละบริษัทต้องมีกองบรรณาธิการเป็นของตัวเอง มีนักข่าว ช่างภาพเป็นของตัวเอง พูดง่ายๆก็คือหัวหนังสือของใครก็หนังสือของมันแยกกันทำไปเลยย่างชัดเจน
ยกตัวอย่างเช่น หนังสือพิมพ์มติชนก็มีหนังสือพิมพ์ และหนังสือหลายหัวเช่นเดียวกันกับเนชั่นแต่หนังสือในเครือมติชน จะแยกออกเป็นเล่มใครเล่มมัน แต่ละเล่มมีกองบรรณาธิการของตนเอง มีนักข่าวของตัวเอง นักข่าวก็ทำข่าวให้กับหนังสือของตัวเองเท่านั้น ซึ่งจริงก็ควรเป็นแบบนั้น
แต่ที่บริษัทเนชั่นไม่ได้ทำแบบหนังสือพิมพ์มติชน อย่างที่กล่าวข้างต้นบริษัทเนชั่นมีหนังสือพิมพ์หลายหัว มีรายการข่าวทางวิทยุ และทางโทรทัศน์มากมาย ถ้าทุกฉบับ ทุกรายการ มีนักข่าวเป็นของตัวเอง นักข่าวในบริษัทเนชั่นคงเดินชนกัน
จากการสัมภาษณ์คุณประเสริฐ บรรณาธิการอวุโส บริษัทเนชั่น เรื่องโครงสร้างและการบริหารการข่าวในรูปแบบใหม่ของเนชั่น หลังเกิดเหตุเศรษฐกิจทรุด ในช่วงปี 2540 บริษัทเนชั่นจึงตั้งศูนย์ข่าวเนชั่นขึ้นมา โดยดึงเอานักข่าวในหนังสือพิมพ์หัวต่างๆ มารวมไว้ที่ส่วนกลางเพื่อทำข่าว เมื่อนักข่าวออกไปทำข่าวเสร็จแล้วก็มาส่งข่าวใน “ถังข่าว”
ไม่ว่าจะเป็นข่าวอะไรก็มารวมไว้ที่เดียวกัน คือ “ถังข่าว” หนังสือพิมพ์ฉบับไหนต้องการดึงข่าวไหนไปเขียนก็สามารถนำไปเขียนลงในหนังสือพิมพ์ของตนเองได้ หลายคนอาจมองว่าถ้าหยิบข่าวซ้ำกันไปเขียนข่าวจะเหมือนกัน ซึ่งจริงเป็นไปได้
แต่การทำงานข่าวมีการประชุมข่าวกันหลายครั้ง อย่างที่บริษัทเนชั่น มีการประชุมข่าวระดับหัวหน้าข่าว เรียนกว่า Super desk มีหัวหน้าข่าวแต่ละฉบับเข้าประชุม ทำให้รู้ว่าหนังสือพิมพ์ในเครือฉบับไหนจะเล่นข่าวไหน อีกฉบับก็เลือกเล่นข่าวอื่น ส่วนหนังสือพิมพ์แต่ละหัวก็มีการประชุมข่าวกันเองในฉบับอีกถึง 2 ครั้งก่อนที่จะตีพิมพ์
นอกจากนี้ภาษาลักษณะเฉพาะของแต่ละฉบับ การจับประเด็นก็ไม่เหมือนกัน อย่างเช่น กรุงเทพธุรกิจ หยิบข่าว Aไปก่อน ข่าวที่เขียนออกมาก็เป็นไปในเชิงธุรกิจ เน้นให้นักธุรกิจอ่าน ต่อมาหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ก็มาหยิบข่าว Aไปเขียนซึ่งเป็นข่าวเดียวกัน แต่หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ก็จะเขียนในเชิงข่าวชาวบ้านอ่านภาษาก็ง่าย และเขียนคนละประเด็น
จากการสัมภาษณ์คุณเสด็จ หัวหน้าข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ ค ม ชัด ลึก เรื่องการทำข่าวที่บริษัทเนชั่น บริษัทเนชั่นไม่ได้ทำแบบที่หนังสือพิมพ์ทั่วไปทำ คือบริษัทเนชั่นจะมีศูนย์ข่าวเนชั่นเป็นตัวแทนออกในการทำข่าวทุกข่าว ศูนย์ข่าวเนชั่นข่าวทำข่าวป้อนให้กับหนังสือพิมพ์ในเครือเนชั่นทุกฉบับ แต่ไม่ใช่ว่าหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะไม่มีนักข่าว มีนักข่าวเหมือนฉบับอื่นๆ และก็มีโต๊ะข่าวเหมือนหนังสือพิมพ์เล่มอื่นๆ แต่มีน้อยกว่า หนังสือพิมพของเราจะให้นักข่าวที่ประจำโต๊ะนั้นออกไปหาข่าวที่ต้องการประเด็นเพิ่ม หรือรายละเอียดเพิ่มเติ่มจากที่นักข่าวส่วนกลางทำไว้
สารสาธารณะ (Public Interest Message) ของเครือเนชั่น
สารสาธารณะ (Public Interest Message) ของเครือเนชั่น คือข่าวสารที่เกิดจากการร่วมมือกันของสาธารณะ(นักข่าวใรเครือเนชั่น) ในการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นปัญหาอย่างหลากหลาย มีการถกเถียง โต้แย้ง ด้วยหลักการและเหตุผล ด้วยปัญญา ประเด็นสาธารณะในที่นี้ หมายถึงผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนโดยรวม เพื่อตอบสนองความต้องการในด้านต่างๆ สาธารณะสามารถที่จะให้ข้อมูลข่าวสารที่มีความคงเส้นคงวาในการตัดสินใจเรื่องสำคัญ(ธัญญาลักษณ์ เหลืองวิสุทธิ,2534) เช่นเดียวกันกับการทำข่าวของศูนย์ข่าวเนชั่น ก็ถือว่าเป็นข่าวสารที่เกิดจากการร่วมมือกันของสาธารณะ ซึ่งสาธาณณะในที่นี้ก็คือการร่วมมือกันทำข่าวและใครก็สามารถมาหยิบข่าวสารไปใช้ประโยชน์ได้
พื้นที่สาธารณะ(Public Sphere) ในศูนย์ข่าวเนชั่นนั้นเพื่อเป็นที่พบเพื่ออภิปรายโต้เถียงปัญหา ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ก่อนจะถูกตีแผ่แลกเปลี่ยนกันเพื่อก่อใหเกิดการรับรู้ร่วมกันและนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันในอับดับต่อไป(วิภา อุตมฉันท์,2544)
“ถังข่าว” ของศูนย์ข่าวเนชั่นถือว่าเป็นพืนที่สาธารณะของคนในชุมชนเนชั่น คนในชุมชุนเนชั่นสามารถที่จะเข้ามาเลือกบริโภคข่าวสาร และนำไปทำประโยชน์ได้
ข้อดี ของ “ถังข่าว” ในยุคเศรษฐกิจตกสะเก็ด
ถ้ามองในแง่การบริหารงานแล้วถือว่าผู้บริหารของเครือเนชั่นมองการไกล เนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันสูง การที่ช่วยในการลดต้นทุนขององค์กรถือว่ามีความสำคัญ การทำข่าวแบบ “ถังข่าว” ถือว่าเป็นการช่วยกันทำข่าว ข่าวเดียวสามารถกระจายประโยชน์ไปได้หลายทาง ตัวอย่างเช่นเกิดเหตุการณ์ขึ้นหนึ่งเหตุการณ์ถ้าไม่มีศูนย์ข่าวเนชั่น หนังสือพิมพ์ในเครือทุกฉบับก็ต้องส่งนักข่าวของตัวเองไปทำข่าว นักข่าวหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ก็ออกไป นักข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจก็ต้องออกไป นักข่าววิทยุของเนชั่นก็ออกไป และนักข่าวโทรทัศน์เนชั่นก็ออกไป บริษัทเดียวกันก็ไปที่เดียวกันถือว่าเป็นการสิ้นเปลื้องงบประมาณอย่างมาก
แต่เมื่อเกิดศูนย์ข่าวเนชั่นนักข่าวที่ศูนย์เนชั่นออกไปคนเดียวทำข่าวส่ง “ถังข่าว” หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วิทยุของเนชั่น และข่าวโทรทัศน์เนชั่น ก็ไม่ต้องออกไปรอข้อมูลเพื่อนำมาแปรรูปเป็นแบบของตัวเอง ถือว่าเป็นการประหยัดและลดต้นทุนการผลิตไปในตัวเหมาะกับเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน





บรรณานุกรม
ดรุณี หิรัญรักษ์. การจัดการธุรกิจหนังสือพิมพ์.กรุงเทพฯ. เอกพิมพ์ไทย: 2543.
ธัญญาลักษณ์ เหลืองวิสุทธิ. วรรณกรรมโพล วิทยาศาสตร์ ความจริงและโวหารการวิจัยเชิง
สำรวจ. กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์วิภาษา : 2534.
ปุณณรัตน์ พิงคานนท์. การสื่อข่าวและการเขียนข่าวหนังสือพิมพ์.กรุงเทพฯ. ธรรมดาเพรส: 2548.
ประเสริฐ เป็นผู้ให้สัมภาษณ์, ภาคภูมิ หรรภา เป็นผู้สมภาษณ์. หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ชั้น 4
เนชั่นทาวเวอร์. กรุงเทพฯ เมื่อ 23 เมษายน 2550.
พิศิษฐ์ ชวาลาธวัช. กฎหมายสื่อสารมวลชน. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2541.
พีระ จิรโสภณ. ประเภทสื่อสิ่งพิมพ์. ในความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์หน่วยที่ 1- 5. นนทบุรี.
สาขาวิชินิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช: 2532.
วิภา อุตมฉันท์. ปฏิรูปสื่อเพื่อสังคม หลักคิดและบทเรียนจากนานาประเทศ. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ,
ไอคอน พริ้นติ้ง: 2544.
สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ. การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ, ศูนย์หนังสือสวนสุนันทา :2546.
เสด็จ เป็นผู้ให้สัมภาษณ์, ภาคภูมิ หรรภา เป็นผู้สมภาษณ์. หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ชั้น 4
เนชั่นทาวเวอร์. กรุงเทพฯ เมื่อ 23 เมษายน 2550.