6/13/2550

การสื่อความหมายของภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดในอีสาน

การบูรณาการภาพและลายลักษณ์อักษรเพื่อการสื่อสารในงานจิตรกรรมฝาผนัง วัดโพธาราม อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม
The Integration of Image and Text for Communication in the Mural Paintings of Potharam Temple in Nadoon District, Mahasarakham Province
ภาคภูมิ หรรนภา ผู้วิจัย

บทคัดย่อ
การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เข้าใจถึงเนื้อหาวรรณกรรม และรูปแบบของวิธีการผสมผสานระหว่างการสื่อสารด้วยภาพและลายลักษณ์อักษรในงานจิตรกรรมฝาผนังวัดโพธาราม อ.นาดูน จ.มหาสารคาม โดยมีแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องได้แก่ แนวทางการศึกษาเชิงสัญญาณศาสตร์ ทฤษฎีสัญลักษณ์ แนวคิดเรื่องวาทะศิลปเชิงภาพ ทฤษฎีองค์ประกอบศิลป์ ความรู้เกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังไทยและอีสาน และแนวคิดเกี่ยวกับการบูรณาการภาพและลายลักษณ์อักษรในงานจิตรกรรม ทั้งนี้โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อวิเคราะห์ความหมายจากตัวบท (Text)

ผลการวิจัย พบว่า เนื้อหาวรรณกรรมที่พบในการเล่าเรื่องในงานจิตรกรรมฝาผนัง วัดโพธาราม ประกอบด้วย เรื่องราวที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธประวัติ เวสสันดรชาดก และวรรณกรรมท้องถิ่น เรื่องสังข์ศิลป์ชัย ในส่วนรูปแบบของวิธีการผสมผสานระหว่างการสื่อสารด้วยภาพและลายลักษณ์อักษร สามารถจัดแบ่งกลุ่ม รูปแบบของวิธีการผสมผสานระหว่างการสื่อสารด้วยภาพและลายลักษณ์อักษรได้ดังนี้ 1) การผสานรูปแบบภาพและลายลักษณ์อักษรโดยการให้ชื่อ 2) การผสานรูปแบบภาพและลายลักษณ์อักษรโดยอธิบายเหตุการณ์ และ 3) การผสานรูปแบบภาพและลายลักษณ์อักษรโดยการบอกสถานที่

Abstract
The researcher has used variety of ideas and relevant theories as the path to the issue and to the mural painting analysis. Those ideas and theories used for the research consisted of semiotics theory, symbol theory, the idea on rhetoric of the image, composition theory, knowledge of traditional Thai mural paintings and local E-san mural painting as well as ideas on integration of image and text in the mural paintings.

The “Qualitative Research” is the research criteria used for this research to find the meaning from the text. The research on the integration of image and text for communication in the mural paintings of Potharam temple, consists of the Buddhist literature. The Buddhist literature consists of the histories of the Buddha, Wetsandon (name of the Buddha in his tenth existence) and an E-san folk tale named Sung Sil Chai. The criterion of the integration of image and text for communication in Potharam temple can be divided based on the styles of integrations into 1) the integration of image and text by giving the name, 2) the integration of image and text by explaining the incidences, and 3) the integration of image and text by indicating the places.

บทนำ
การสื่อความเข้าใจระหว่างมนุษย์ด้วยกันนั้น นอกจากการใช้ภาษาพูดโดยตรงแล้ว มนุษย์อาจใช้รูปภาพ ตัวอักษร เป็นสื่อในการบอกกล่าว ถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้สึกนึกคิด จากผู้หนึ่งไปยังผู้หนึ่งหรืออาจจากกลุ่มหนึ่งไปยังกลุ่มหนึ่ง และจากคำพูดที่ว่า “ภาพ ๆ เดียวสื่อความหมายได้ดีกว่าคำพูดนับพัน” (a picture says more than a thousand words) หรือ สุภาษิตไทยที่ว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารด้วยภาพ
ดังที่ได้มีการศึกษาธรรมชาติในการรับรู้ของมนุษย์พบว่า มนุษย์เรียนรู้ผ่านทางสายตามากถึงร้อยละ 75 ทางหูร้อยละ 13 ทางสัมผัสร้อยละ 6 ทางจมูกร้อยละ 3 ทางลิ้นร้อยละ 3 และในเรื่องเกี่ยวกับความทรงจำของมนุษย์นั้น พบว่า มนุษย์สามารถจดจำสิ่งที่ได้เห็นถึงร้อยละ 40 แต่สามารถจำสิ่งที่ได้ยินเพียงร้อยละ 20 (เสาวนีย์ สิกขาบัณฑิต, 2528 : 34)
ในชีวิตประจำวันของมนุษย์นั้น จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับภาพและภาษาในการเล่าเรื่อง (story -telling) มาโดยตลอด แรกสุดมนุษย์อาจใช้ภาษาภาพในการเรื่องเล่าเพื่ออธิบายถึงลักษณะและความเป็นมาของธรรมชาติ หรือไม่ก็เพื่อบันทึกและบอกเล่าความเป็นไปของสังคม วัฒนธรรมและตนเอง ในบางครั้งก็เพื่อแสดงออกถึงความคิดความรู้สึกที่ฝังอยู่ในเบื้องลึกของจิตใจ ต่อมาเมื่ออารยธรรมและสังคมมนุษย์มีความเจริญ มนุษย์มีความคิดที่ซับซ้อนมากขึ้น ได้มีการประดิษฐ์คิดค้นการใช้ภาษาลายลักษณ์อักษรที่เป็นระบบ เพื่อใช้ในการสื่อความหมายและสื่อสาร จะเห็นได้ว่ามนุษย์เรานั้นใช้กลวิธีในการเล่าเรื่อง และสื่อความหมายผ่านทางภาษาภาพและภาษาที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อประโยชน์ของชีวิตในบริบทที่แตกต่างกันออกไป
แนวความคิดดั้งเดิมที่ตกทอดกันมาตั้งแต่สมัยอริสโตเติล (Aristotle) นั้นมองว่า เรื่องเล่า ต่างๆ เป็นความพยายามของมนุษย์ที่จะลอกเลียนแบบธรรมชาติ นั่นคือมองว่าเรื่องราวที่เล่าผ่านภาษาภาพและลายลักษณ์อักษร ดังเช่นการสร้างสรรค์ทางด้านจิตรกรรมฝาผนังที่มนุษย์ได้สืบทอดต่อกันมา รวมทั้งภาพเขียนต่าง ๆ นั้น ล้วนแต่สะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาอันเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญ (อารี สุทธิพันธุ์, 2528: 40) และยังสะท้อนถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์อีกด้วย
งานด้านจิตรกรรมฝาผนังได้พัฒนามาเรื่อยๆ จนสามารถบรรยายและเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อ ประวัติศาสตร์ และศาสนาได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเข้าใจได้ง่าย เพราะงานศิลปะเป็นงานภาษาสากลที่สามารถสื่อความหมายและเป็นเงาสะท้อนโลกจริง (real world) องค์ประกอบต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในภาษาภาพและลายลักษณ์อักษรล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อบอกเล่าแนวคิดและความเป็นมาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ความคิดที่เชื่อว่ามนุษย์เราอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยการเล่าเรื่องเป็น Narratorized word และความเป็นจริงที่เราเห็นนั้น ล้วนแต่เกิดจากการประกอบสร้างของมนุษย์ แทบทั้งสิ้น การประกอบสร้างนี้โยงกับภาษาภาพและภาษาลายลักษณ์อักษรตรงที่ว่า ภาพและภาษาลายลักษณ์อักษรพยายามเข้าสู่กระบวนการถ่ายทอด มีผู้อธิบายไว้ว่า สิ่งที่เราเห็นหรือบางคนใช้คำว่า physical reality หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ นั้น ไม่มีความหมายอะไร จนกระทั่งมีผู้มาให้ความหมาย ซึ่งก็คือผู้ประกอบสร้างนั่นเอง
จิตรกรรมฝาผนังเป็นงานศิลปะที่ปรากฏอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ภาคอีสานเป็นภูมิภาคหนึ่งที่ปรากฏงานจิตรกรรมฝาผนังหลายแห่ง นอกจากจะมีการค้นพบตามผนังถ้ำและหน้าผาต่างๆ แล้วยังปรากฏตามโบสถ์แบบพื้นบ้านที่ชาวบ้านเรียกว่า “สิม” ซึ่งนักโบราณคดีและนักวิชาการศิลปะในเขตลุ่มแม่น้ำโขงได้ศึกษาค้นคว้าอย่างมีระบบ บริเวณที่พบจิตรกรรมฝาผนังดังกล่าวมีหลายจังหวัด แสดงให้เห็นถึงร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองของอารยธรรมอีสาน (ประยูร อุลุชาฎะ, 2533 : 96) จิตรกรรมฝาผนังเหล่านั้นได้รับการยอมรับ และยกย่องว่ามีคุณค่าทางศิลปะ อีกทั้งยังมีกลวิธีการสื่อสารที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ในการที่จะสื่อความหมายถึงความเชื่อของสังคม และวัฒนธรรมไทยในอีกแง่มุมหนึ่ง
จังหวัดมหาสารคาม เป็นจังหวัดหนึ่งที่อยู่ตอนกลางอีสาน ซึ่งได้แยกมาจากจังหวัดร้อยเอ็ดในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2408 มีบางพื้นที่เคยเป็นแหล่งอารยธรรมที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาแล้วในอดีต (ปราโมทย์ ทัศนสุวรรณ, 2533: 8) ปัจจุบันจังหวัดมหาสารคามเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของภาคอีสานและยังเป็นจังหวัดที่ปรากฏหลักฐานด้านศิลปวัฒนธรรมอันเป็นมรดกของชาติอีกด้วย
จิตรกรรมฝาผนังสิมวัดต่าง ๆ ในเขตอีสานที่ ไพโรจน์ สโมสร ได้สำรวจว่ามีทั้งหมด 74 วัดนั้น จำนวน 6 วัดปรากฏที่จังหวัดมหาสารคาม จากการศึกษาเบื้องต้นของผู้วิจัย พบว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดในจังหวัดมหาสารคาม แตกต่างจากภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดอื่น กล่าวคือ มีช่างพื้นบ้านเป็นผู้เขียนภาพ ไม่ใช่ช่างหลวงของส่วนกลางที่มีระบบระเบียบแบบแผนที่เคร่งครัด ภาพจิตรกรรมฝาพนังของวัดในจังหวัดมหาสารคามจึงเป็นงานศิลปะพื้นบ้าน (folk arts) ที่แสดงถึงแก่นความเป็นเอกลักษณ์ คุณค่าในรสความงามต่างไปจากช่างสกุลหลวงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งยังมี กลวิธีการใช้ภาษาในการเล่าเรื่องเพื่อสื่อถึงความเชื่อ ตลอดจนแนวคิดต่างๆ ในการสื่อสารความเป็นจริงที่ผู้เขียนภาพต้องการให้ผู้ชมได้รับรู้ และอาจถือได้ว่าภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดเป็นสื่อที่สามารถใช้ภาษาภาพกับลายลักษณ์อักษรนำเสนอเรื่องราวได้อย่างสัมฤทธิ์ผลที่สุดสื่อหนึ่ง จึงทำให้คนจำนวนมากให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าว
จากการสำรวจเบื้องต้น ผู้วิจัยพบว่าวัดโพธารามซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้านดงบัง ตำบลนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เป็นวัดที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด ผู้วิจัยจึงเลือกวัดดังกล่าวเป็นกรณีศึกษา
ในปัจจุบัน แม้ว่าจำนวนผู้ศึกษาทางสาขาการสื่อความหมายของภาพและลายลักษณ์อักษร ทั้งในระบบการศึกษาที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี แต่การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสื่อความหมายร่วมของภาพและลายลักษณ์อักษรในจิตรกรรมฝาผนังหรือการศึกษา วิจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาพและลายลักษณ์อักษรยังมีอยู่น้อยมาก ความเข้าใจและความสามารถใน การอธิบายเกี่ยวกับกระบวนการสื่อความหมายทางภาพและลายลักษณ์อักษรจึงอาจจะยังมีขอบเขตที่ไม่กว้างขวางนัก อย่างไรก็ตาม มุมมองร่วมสมัยมองว่าเรื่องเล่าและการสื่อความหมายด้วยภาษาภาพกับการสื่อความหมายด้วยภาษาลายลักษณ์อักษร สามารถที่จะสื่อสารและสื่อความหมายร่วมกันได้ ทำให้จุดมุ่งหมายในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาษาภาพและลายลักษณ์อักษรเปลี่ยนไปจากเดิม โดยหันมามุ่งเน้นที่จะศึกษาการสื่อความหมายร่วมกัน เพื่อที่จะค้นหาคำตอบว่า การสื่อสารด้วยภาพและลายลักษณ์อักษรในงานจิตกรรมพื้นบ้านซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะมีวิธีการผสมผสานเพื่อให้เกิดการส่งเสริมเกื้อกูลกันระหว่างภาพและภาษาลายลักษณ์อักษรอย่างไร
ดังนั้นการศึกษาการบูรณาการภาพและลายลักษณ์อักษรเพื่อการสื่อสารในจิตรกรรมฝาผนังวัดโพธาราม อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ อันจะนำไปสู่องค์ความรู้ที่หลากหลาย และเปิดทางเลือกให้แก่ผู้ที่สนใจเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังควรค่าแก่การศึกษาค้นคว้าอย่างยิ่ง

ปัญหานำวิจัย
1. เนื้อหาวรรณกรรมที่พบในการเล่าเรื่องในงานภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดโพธารามมีเรื่องอะไรบ้าง
2. รูปแบบของวิธีการการสื่อสารด้วยภาพและลายลักษณ์อักษรในงานจิตรกรรมฝาผนังวัด
โพธารามมีวิธีการในการผสมผสานกันอย่างไร

ขอบเขตการวิจัย
ผู้วิจัยจะศึกษาภาพจิตรกรรมฝาผนังและลายลักษณ์อักษรของวัดโพธาราม บ้านดงบัง ตำบลนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม โดยศึกษาเฉพาะบริเวณผนังด้านนอกเท่านั้น เพราะผนังด้านในไม่ใช้พื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถเขาไปได้ และผู้วิจัยจะศึกษาเรื่องราวของภาพจิตรกรรมฝาผนังทุกเรื่องและลายลักษณ์อักษรทุกประเภทได้แก่อักษรธรรม อักษรไทยน้อย ที่ปรากฏบนฝาผนังของวัดโพธาราม บ้านดงบัง ตำบลนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม
แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องในการศึกษาวิจัยครั้งนี้
ผู้วิจัยได้ใช้แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องเป็นแนวทางในการเข้าสู่ปัญหา และการศึกษาวิเคราะห์งานจิตรกรรมฝาผนังดังนี้
1. แนวทางการศึกษาเชิงสัญญาณศาสตร์ (Semiotics)
2. ทฤษฎีสัญลักษณ์ (Symbol theory)
3. แนวคิดเรื่องวาทศิลป์เชิงภาพ (Rhetoric of the image)
4. ทฤษฎีองค์ประกอบศิลป์ (Composition)
5. ความรู้เกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังไทยและอีสาน
6. แนวคิดเกี่ยวกับการบูรณาการภาพและลายลักษณ์ในงานจิตรกรรม

ระเบียบวิธีวิจัย
ในการศึกษาวิจัยเรื่อง “การบูรณาการภาพและลายลักษณ์อักษรเพื่อการสื่อสารในจิตรกรรมฝาผนังวัดโพธาราม อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม” นี้ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยในลักษณะที่เรียกว่า การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในการวิเคราะห์เพื่อหาความหมายจากตัวบท (text) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและเรื่องราวที่ปรากฏในภาพจิตรกรรม แหล่งข้อมูลที่ผู้วิจัยใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังและลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏบนผนังสิมวัดโพธาราม บ้านดงบัง ตำบลนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม
ในขั้นตอนของการเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยได้ถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีลายลักษณ์อักษร ทุกด้านของสิม จำนวน 26 ภาพ
การวิเคราะห์ข้อมูล ข้อมูลส่วนที่เป็นภาพ วิเคราะห์การสื่อความหมายการเล่าของภาพโดยใช้แนวทางการศึกษาเชิงสัญญาณศาสตร์ ทฤษฎีสัญลักษณ์ แนวคิดเรื่องวาทะของภาพ และทฤษฎีองค์ประกอบศิลป์ เป็นกรอบในการวิเคราะห์ข้อมูล
ข้อมูลส่วนที่เป็นลายลักษณ์อักษร วิเคราะห์การสื่อความหมายและตำแหน่งของลายลักษณ์อักษร โดยใช้ทฤษฎีสัญลักษณ์ แนวคิดเรื่องวาทะของภาพ และทฤษฎีองค์ประกอบศิลป์
เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลแต่ละส่วนแล้ว ผู้วิจัยจะนำมาศึกษาวิธีการผสมผสานในการสื่อความหมายร่วมกันระหว่างภาพและลายลักษณ์อักษร

สรุปผลการวิจัย
การบูรณาการภาพและลายลักษณ์อักษรเพื่อการสื่อสารในงานจิตรกรรมฝาผนังวัด โพธาราม อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม สามารถสรุปการวิเคราะห์ ได้ดังหัวข้อต่อไปนี้

1. เนื้อหาวรรณกรรมที่พบในการเล่าเรื่องในงานจิตรกรรมฝาผนังวัดโพธาราม
เรื่องราวที่ช่างแต้มวาดและถ่ายทอดบนผนังวัดโพธาราม มีสื่อความหมายเพื่อเล่าเรื่องราวที่อยู่ในวิถีชีวิตของชาวบ้าน เป็นเรื่องราวที่ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา หรือเป็นเรื่องที่ช่างวาดประทับใจ จากการวิเคราะห์การเล่าเรื่องบนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดโพธาราม สามารถแบ่งประเภทเรื่องราวได้เป็น 3 ประเภทดังนี้
1.1 เรื่องราวที่เกี่ยวกับประวัติพุทธศาสนา
ในงานฝาผนังวัดโพธาราม ช่างแต้มได้วาดเรื่องพุทธประวัติ และชาดกเรื่องพระเวสสันดร ตัวอย่างเรื่องเวสสันดร ตอนมหาภิเนษกรมณ์ รูปเล่าเรื่องว่า เจ้าชายสิทธัตถะเข้ามาเห็นนางกำนัลนอนเผลอหลับใหลไม่ได้สติ ทำให้เห็นภาพอุจาดเกิดการสังเวช เหนื่อยหน่ายในโลกียวิสัย จึงตัดสินใจออกบรรพชา
1.2 เรื่องราววรรณกรรมท้องถิ่น เช่น สินไช
นิทานเรื่องสินไชเป็นนิทานที่ชาวบ้านรู้จักแพร่หลาย เพราะเรื่องสินไชให้ความเพลิดเพลิน
แก่ผู้ชม รวมทั้งสลับกับเรื่องราวที่สอนธรรมะ คติเตือนใจผู้คนไปด้วย รวมทั้งมีการถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตชาวบ้านนั้น ช่างแต้มทำอยู่ 2 ลักษณะคือ วาดรูปชีวิตชาวบ้านเพื่อสื่อเรื่องราวโดยตรงไม่มีเนื้อหาหลัก ช่างแต้มแทรกไว้เพื่อบอกเล่าโดยตรง อีกลักษณะหนึ่งคือสะท้อนชีวิตชาวบ้านทางอ้อม

การวิเคราะห์ลักษณะการวาดภาพเนื้อหาวรรณกรรมในการสื่อความหมายของช่างแต้มที่วาดผนังวัดโพธาราม อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม สามารถสรุปการจำแนกภาพที่วาดได้ดังนี้
ก) การวาดภาพบุคคล
ช่างนิยมวาดใบหน้าคนเป็นหน้าตรง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลชั้นสูงหรือสามัญชน หากเป็น
การวาดใบหน้าผู้ชายจะวาดใบหน้าด้านข้างและเป็นด้านข้าง 90 องศา ยกเว้นพระพุทธเจ้าจะวาดเฉพาะหน้าตรง ทั้งนี้เพราะว่าการวาดใบหน้าด้านข้างไม่สามารถแสดงความงามของใบหน้าได้ชัดเจน ดังนั้นใบหน้าของผู้หญิงจึงเป็นใบหน้าตรงทั้งหมด แม้ว่าลำตัวของผู้หญิงจะหันไปด้านข้างก็ตาม สามารถจำแนกภาพบุคคลได้ดังนี้ คือ 1) รูปบุคคลชั้นสูง ได้แก่รูปพระพุทธเจ้า รูปเทวดา รูปกษัตริย์ 2)รูปสามัญชน ได้แก่เสนาอำมาตย์และทหาร นางสนมกำนัล ชาวบ้าน 3)รูปคนชั้นต่ำ
ข) ลักษณะการวาดรูปสัตว์
ลักษณะของรูปสัตว์ส่วมมากเป็นสัตว์ที่เห็นได้ในท้องถิ่นช่างวาดเลียนแบบของจริงสัตว์ใน
จินตนาการมีอยู่บ้างแต่น้อย อย่างรูปในวัดโพธารามนั้นมีรูปไกรสรราชสีห์ หรือสีโห ช่างชาวบ้านมักเขียนตามแบบช่างหลวง ลีลาท่าทางของสัตว์ก็แตกต่างกันตามเรื่องที่เขียน
ค) ลักษณะการวาดรูปบ้านเรือน
ลักษณะรูปอาคารบ้านเรือนในวัดโพธาราม ได้แก่ รูปปราสาท บ้านเรือน ส่วนรูปปราสาทราช
วัง บ้านเรือนช่างจะวาดตามแบบที่มีในท้องถิ่น และมักเขียนรูปขนาดใหญ่เพื่อเป็นจุดเด่นของภาพ
ง) ลักษณะการวาดรูปภูมิประเทศ
ภูมิประเทศเป็นฉากประกอบเนื้อเรื่องช่างจะวาดให้สอดคล้องกับเรื่องราวนั้นๆ เช่น ป่า ภูเขา
เป็นต้น ซึ่งภาพวาดภูมิประเทศในวัดโพธารามสามารถจำแนกได้ดังนี้ คือ 1)รูปต้นไม้ ช่างจะวาดต้นไม้เลียนแบบของจริง 2) รูปพื้นดินและภูเขา 3) ภาพท้องฟ้า
2.รูปแบบของวิธีการผสมผสานระหว่างการสื่อสารด้วยภาพและลายลักษณ์อักษรในงานจิตรกรรมฝาผนังวัดโพธาราม
การที่ภาพวาดบนผนังวัดโพธารามมีลายลักษณ์อักษรเข้ามาประกอบในการสื่อความหมายในภาพ ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการจดจำ ช่วยดึงดูดสายตา ให้ความรู้และให้คนเชื่อถือในภาพที่เห็นนั้น ในการสื่อความหมายโดยใช้ลายลักษณ์อักษรในงานจิตรกรรมฝาผนัง ช่างแต้มตั้งใจนำตัวอักษรมาเขียนแทรกไว้เพื่อเล่าเรื่องราวที่ถ่ายทอดบนภาพจิตรกรรม บางครั้งการวาดภาพของช่างแต้มซึ่งเป็นช่างพื้นบ้าน การวาดภาพบางรูปอาจยังไม่ชัดเจนเพียงพอในการสื่อความหมายให้ชาวบ้านที่ชมเข้าใจได้ง่าย จึงจำเป็นต้องใช้ตัวอักษร ในการช่วยอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องราว และคำสั่งสอนของเรื่องทั้งหมด
สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการสื่อความหมายของลายลักษณ์อักษรบนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดก็คือ การวาดภาพของช่างแต้มนั้น ช่างแต้มไม่ได้แบ่งพื้นที่การวาดภาพแต่ละเรื่องอย่างชัดเจนว่าส่วนใดจะวาดเรื่องใด ช่างแต้มวาดภาพจากที่ว่างที่มีอยู่บนผนัง การวาดภาพจึงมีเรื่องหลายเรื่องวาดปะปนกันอยู่ ทำให้ผู้วาดภาพจิตรกรรมหรือช่างแต้มจำเป็นต้องใช้ตัวอักษรกำกับภาพเอาไว้เพื่อให้ชาวบ้านที่มาชมความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ
ภาพทุกภาพล้วนมีศักยภาพที่จะสื่อความหมายได้หลายความหมาย (polysemous) ทั้งสิ้น และทำให้ผู้อ่านสามารถเลือกความหมาย บางตัวและมองข้ามบางตัวไปได้ ลักษณะหลายนัยยะนี้ก่อให้เกิดปัญหาความชัดเจนในการสื่อความหมาย ด้วยเหตุนี้ในทุกสังคมจึงมีการพัฒนาเทคนิควิธีการต่าง ๆ ขึ้นมามากมาย เพื่อที่จะ “กำกับ” ความหมายมิให้ลอยตัวจนเกินไป การใช้ตัวอักษรมากำกับก็เป็นเทคนิควิธีการหนึ่ง
ลายลักษณ์อักษรมีบทบาทช่วยสนับสนุนความหมายของภาพวาด ซึ่ง Barthes (ประชา สุวีรานนท์, 2538 : 118-120) เห็นว่า สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่หลักของลายลักษณ์อักษรเลยทีเดียว ลายลักษณ์อักษร จะ “ชี้นำ” ผู้อ่านไปสู่การค้นพบตัวความหมายของภาพ ทำให้เขามองข้ามความหมายบางตัวและรับรู้แต่เฉพาะบางความหมายอาศัยการ “ขับไล่” ความหมายตัวอื่น ๆ ไปให้พ้นอย่างแนบเนียน การกำกับความหมายด้วยลายลักษณ์อักษรจะควบคุมคนอ่านและนำเขาไปค้นพบความหมายที่ถูกเตรียมไว้ล่วงหน้าแล้ว จะเห็นได้ว่าลายลักษณ์อักษรทำหน้าที่ขยายความ แต่การขยายความนี้มีการเลือกสรรและเป็นลายลักษณ์อักษรเชิงอธิบาย ซึ่งเจาะจงใช้กับสัญญะบางตัวเท่านั้น การกำกับความหมายของภาพด้วยลายลักษณ์อักษรจึงเป็นการจำกัดศักยภาพในการสื่อความหมายของภาพให้เหลือเพียงส่วนที่คนวาดภาพที่ต้องการ

ภาพจิตรกรรมฝาผนังจะมีสารทางภาษาปรากฏอยู่ในภาพวาด ไม่ว่าจะเป็นในรูปของชื่อภาพ คำบรรยายภาพ เพราะภาพและข้อความต่าง ๆ ก็ช่วยทำให้เรื่องราวที่นำเสนอมีความชัดเจนมากขึ้น ภาพช่วยอธิบายความหมายของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เห็นเป็นรูปธรรม แม้แต่คนไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ก็ยังเข้าใจได้ ส่วนลายลักษณ์อักษรก็ช่วยอธิบายรายละเอียดที่ภาพวาดไม่สามารถสื่อความหมายได้ เช่น บุคคลในภาพชื่ออะไร เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ใด ในกรณีที่สถานที่นั้น ไม่ได้เป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียง ลายลักษณ์อักษรจึงช่วยทำให้การสื่อความหมายมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ตำแหน่งการเขียนลายลักษณ์อักษรเป็นส่วนที่สำคัญเป็นการกำหนดขอบเขตการสื่อความหมายของภาพวาดได้ เพราะการวาดภาพบนผนังวัดโพธารามช่างจะวาดบนผนังหลายเรื่องราวปะปนกัน ตำแหน่งของตัวอักษรก็จะเป็นตัวกำหนดขอบเขตการสื่อความหมาย
ลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏในภาพวาด ถูกนำมาใช้อ้างอิงและยังสื่อความหมายของภาพวาดได้เป็นอย่างดี ตัวละคร สถานที่ และเหตุการณ์ต่างๆ ในภาพวาดจะมีคำอธิบายตัวมันเอง ทำให้ ตัวละคร สถานที่ และเหตุการณ์นั้นมีความสำคัญมากขึ้น ลายลักษณ์อักษรและภาพวาดจะเป็นตัวบอกชื่อ สถานที่ และเหตุการณ์ และความเป็นมาของตัวละคร นั้นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม หากมองในอีกแง่หนึ่ง ลายลักษณ์อักษรและภาพวาดที่ปรากฏก็เป็นสิ่งสำคัญในการตีความภาพจิตรกรรม ลายลักษณ์และภาพวาดจะถูกนำมาเชื่อมโยงต่อกันเพื่อสื่อความหมายร่วมกัน แต่ในการสื่อความหมายนั้น ก็ไม่ได้มีการลำดับขั้นที่ชัดเจนว่าจะต้องเริ่มตีความจากส่วนใดก่อน

การอภิปรายผลการศึกษา
การสร้างฮูบแต้มและการวาดภาพบนผนังเป็นการสื่อสารเล่าเรื่องโดยอาศัยภาพวาดและตัวอักษรเป็นเครื่องมือในการสื่อสารระหว่างช่างแต้มกับผู้ชม จากแนวคิดจิตรกรรมฝาผนังอีสานได้กล่าวถึงการสร้างและวาดภาพบนผนังเพื่อพิธีกรรมและมาจากแรงจูงใจคนสร้างเป็นสำคัญ เรื่องราวของฮูบแต้มที่เขียนเป็นการเลียนแบบของจริงนั้น มักเป็นเรื่องพิธีกรรม การใช้ชีวิตของคนในยุคสมัยนั้นๆ การนำเสนอเรื่องที่วาดเป็นการสื่อความหมายในเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ แม้วัฒนธรรมการสร้างฮูบแต้มบนผนังสิมในภาคอีสานไม่ได้สืบทอดมาจากวัฒนธรรมการสร้างฮูบแต้มบนผนังถ้ำโดยตรงเพราะฮูบแต้มบนผนังถ้ำเพื่อความสวยงาม แต่คติในการสร้าง ฮูบแต้มบนผนังสิมไม่ใช่เพื่อความงดงามอย่างเดียว แต่ภาพวาดบนผนังสิมเป็นการสั่งสอน รวมทั้งแสดงความเชื่อของผู้คนในยุคนั้นด้วย
การวาดภาพบนผนังสิมยังเป็นการสื่อสารเล่าเรื่องโดยอาศัยภาพวาดและตัวอักษร เป็นเครื่องมือในการสั่งสอนศีลธรรม ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา แสดงวิถีชีวิตคนในท้องถิ่นให้ความรู้ ให้คติ และความเพลิดเพลิน ทำให้คนดูเกิดอรรถรสและจินตนาการต่างไปจากการฟัง

ส่วนรูปแบบของวิธีการผสมผสานระหว่างการสื่อสารด้วยภาพและลายลักษณ์อักษรในงานจิตรกรรมฝาผนังวัดใช้แนวทางการศึกษาสัญญาณศาสตร์ (Semiotics) โดยให้ความสำคัญกับการหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวหมาย (signifier) กับตัวหมายถึง (signified) เพื่อดูว่าความหมายถูกสร้างขึ้นและถูกถ่ายทอดออกมาอย่างไร ส่วนรูปแบบของวิธีการผสมผสานระหว่างการสื่อสารด้วยภาพและลายลักษณ์อักษรนั้น เป็นสัญลักษณ์ที่สร้างขึ้นในระบบสังคมเป็นที่เรียนรู้ได้ มีลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ 1) เข้าใจได้จากการเรียนรู้ของปัจเจกบุคคล 2) มีความหลากหลายในแต่ละสังคม 3) สามารถเปลี่ยนแปลงได้ภายในบุคคลหรือสังคมเดียวกันขึ้นอยู่กับบริบท

ข้อเสนอแนะ
การศึกษาเรื่อง “การบูรณาการภาพและลายลักษณ์อักษรเพื่อการสื่อสารในงานจิตรกรรม ฝาผนังวัดโพธาราม อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม” นับว่าเป็นเรื่องที่ใหม่ ซึ่งยังไม่มีผู้ให้ความสนใจในการศึกษา ผู้วิจัยมีความเห็นว่ายังมีแง่มุมอื่นๆ ที่จะศึกษากี่ยวกับ การบูรณาการภาพและลายลักอักษรเพื่อการสื่อสารในงานจิตรกรรมฝาผนังวัด ดังนี้ เช่นควรมีการศึกษาการบูรณาการภาพและลายลักษณ์อักษรเพื่อการสื่อสารในงานจิตรกรรมฝาผนังวัดที่วัดอื่นๆ และเปรียบเทียบ

2 ความคิดเห็น:

ครูคำมี กล่าวว่า...

เป็นงานวิจัยที่มีคุณค่า

ครูคำมี กล่าวว่า...

เป็นงานวิจัยที่มีคุณค่า